
"มันจะดีหรอ ?" ประโยคนี้หลุดออกมาจากปากเพื่อนผมทันทีที่ผมบอกกับมันว่าจะซื้อกล้อง DSLR ของ SONY หลังจากที่ผมหันหลังให้กับ SLR (ฟิล์ม) แล้วมาบี้กับกล้อง Digital Compact อยู่นานหลายปี พาให้ผมเองสงสัยว่าทำไมเพื่อนผมจึงเอ่ยประโยคกึ่งคำถามนี้ออกมา และคิดว่ามีอีกหลายคนที่สงสัยเช่นกันว่ากล้อง DSLR ของ SONY “มันจะดีหรอ?”...
สวัสดีครับ เพื่อนๆชาว OCZ ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาReview อุปกรณ์ถ่ายภาพ ที่ใครๆหลายคนกำลังสนใจจะหาซื้อมาใช้งาน นั่นคือกล้อง DSLR (Digital Single Lens Reflex) ส่วนรุ่นที่ผมจะนำมาเสนอเป็นกล้องของ SONY รุ่น Alpha 300 กล้องจากค่ายผู้ผลิตที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่แห่งโลกอิเลคทรอนิกส์ เพื่อเป็นข้อมูลคร่าวๆ ในการตัดสินใจว่าผู้ใช้ระดับ Entry Level (เพิ่งซื้อเป็นตัวแรก) ควรจะเลือกใช้กล้องของ SONY หรือไม่ อะไรในตัวกล้องที่มันดีกว่ายี่ห้อที่เป็น "ขาใหญ่” ในโลกของการถ่ายภาพ ... แต่ก่อนอื่น เรามารู้จักกับผลงานคร่าวๆของ SONY ในโลกของกล้องถ่ายภาพกันก่อนดีกว่า
SONY เริ่มก้าวเข้าสู่ระบบการถ่ายภาพแบบไม่ใช้ฟิล์มเป็นครั้งแรกด้วยกล้อง MAVICA (Magnetic Video Camera) ในปี 1981 ซึ่ง MAVICA นับได้ว่าเป็นกล้องอิเลคทรอนิกส์ (ยังไม่ใช่กล้องดิจิตอล) ตัวแรกของโลกที่ผลิตออกวางจำหน่าย โดยบันทึกภาพลงบนแผ่น FDD 2.0”, ใช้ CCD, บันทึกภาพได้ที่ 570*490 pixels หลังจากนั้นในปี 1989 ก็ปล่อย MAVICA -A7AF กล้องอิเลคทรอนิกส์ออโต้โฟกัสตัวแรก พร้อมเลนส์ซูม 6 เท่า ใช้แผ่น FDD 2.0” เหมือนเดิม สำหรับกล้องอิเลคทรอนิกส์ยุคแรกๆจะ ไม่มีจอภาพที่กล้อง เวลาจะดูภาพก็ต้องดูภาพบน TV โดยใส่แผ่น FDD ลงในเครื่องเล่น FDD... นับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ SONY MAVICA ก็เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยจุดเด่นของ MAVICA คือ “ใช้งานง่าย สื่อบันทึกราคาถูก หาง่าย” พร้อมกับปล่อยกล้อง MAVICA ตามมาอีกหลายรุ่น

ล่วงเลยมาถึงปี 1996 จึงได้เปิดตัว MAVICA FD 5 กล้องดิจิตอลตัวแรกของโซนี่ที่บันทึกภาพลงบน FDD 3.5“ ตามมาด้วย MAVICA FD7x, FD 8x, FD9x ในปีต่อมา... แต่ในตอนนั้น มีสื่อบันทึกข้อมูลชนิดใหม่ที่จุได้สูงกว่า เล็กกว่า ทนทานกว่า และเป็นมาตรฐานของกล้องคู่แข่งอย่าง Smart Media (SM) Compact Flash (CF) ตามมาด้วย MMC และ SD เมื่อสื่อบันทึกมีขนาดเล็กลง,จุได้มากขึ้น ส่งผลให้ตัวกล้องเองก็เล็กลงและไม่ต้องพกแผ่นไปเซฟรูปทีละเป็นปึกๆ ซึ่งจุดอ่อนนี้เองที่ SONY พยายามแก้ไขโดยการเปิดตัวกล้องที่ใช้ Minidisc (MD) เป็นสื่อบันทึกภาพคือ DSC-MD1 และกล้องที่มี Memory ในตัวอย่าง DSC-F1, F2, F3 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก

ในปี 1997 SONY จึงได้เปิดตัว Memory Stick (MS) สื่อบันทึกข้อมูลชนิดใหม่เพื่อใช้กับกล้องของตนเอง และพัฒนา MAVICA รุ่นใหม่ที่สามารถบันทึกได้ทั้ง FDD3.5 และ MS ในรุ่น FD100, FD200 เปิดตัว MAVICA ที่สามารถบันทึกภาพลงบน Mini CD-R ได้โดยตรง ในรุ่น CD2xx, CD3xx, CD400, CD500 และ CD1000 พร้อมกับการเกิดขึ้นมาของซับแบรนด์อย่าง “Cyber Shot” ที่จะลบภาพเดิมๆของ MAVICA ทิ้งไป...ไม่นานหลังจากนั้น ชื่อของ MAVICA ก็ถูกลบเลือนและแทนที่ด้วย Cyber Shot อย่างเต็มตัว จนถึงปัจจุบัน

.
.
แล้วกล้องแบบ DSLR หายไปไหน? ทำไมถึงมีแต่ Compact และ DSLR-Like (ซึ่งผมว่ามันไม่ Like เหมือนชื่อ เพราะไม่มีกระจกสะท้อนภาพ ไม่มีแพนทาปริซึม เปลี่ยนเลนส์ก็ไม่ได้ เซนเซอร์เหมือน Compact แต่เทอะทะเหมือน DSLR)
ที่ SONY ไม่มีไม่ใช่ว่า SONY ไม่สนใจตลาด DSLR แต่เป็นเพราะ SONY ยังไม่พร้อมในหลายๆด้าน และการลงทุนแบบ “นับ 1” กับ DSLR ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบรรดายักษ์ใหญ่ของโลก DSLR ทั้ง Canon, Nikon, Minolta, Pentax, Olympus ต่างก็พัฒนากล้องของตนเองมาตลอดเวลาอันยาวนานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกล้องแบบที่จับเอากล้อง SLR มาใส่ Digital Back (ฝาหลังที่ฝัง CCD ) ในยุคแรกๆ และแบบที่พัฒนากล้องของตนเองให้เป็น DSLR เต็มรูปแบบโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีเดิมจากกล้องSLRระบบฟิล์ม (ที่ SONY ไม่เคยมีกะเค้าเลย)

และแล้ว โอกาสของ SONY ก็มาถึง เมื่อ Konica-Minolta หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของโลก DSLR เกิดอาการร่อแร่ ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ทั้งๆ ที่กล้องก็ไม่ได้เป็นรองค่ายอื่นแต่อย่างใด เมื่อถึงขีดสุดจึงต้องขายแผนกกล้องทั้งหมด ให้กับ SONY และ SONY เองก็ถ่ายทอดเทคโนโลยีของ Minolta แทบทุกอย่างมาใช้กับกล้อง DSLR ที่ตนเองจะผลิต โดยไม่คิดที่จะเอาชื่อเสียงของ Minolta มาใช้ด้วยแต่อย่างใด (ไม่เหมือนกับ Ericsson)
กล้อง DSLR Gen 1 ของโซนี่เปิดตัวในปี 2006 ในชื่อว่า Alpha 100 ตามด้วย Alpha 700 ในปี 2007 ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ (ต่างประเทศ) ดีพอสมควรด้วยจุดเด่นที่สามารถใช้อุปกรณ์เดิมของ Minolta ได้ทั้งหมด ตามมาด้วยกล้องใน Gen 2 ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2008 ได้แก่ Alpha 200, 300, 350 และ Alpha 900 พร้อมด้วยเลนส์และอุปกรณ์เสริมชุดใหม่อีกหลายชนิดให้เลือก
Comment