Announcement

Collapse
No announcement yet.

รีวิวทดสอบ ASUS ZenPower ครับ

Collapse
X
 
  • Filter
  • Time
  • Show
Clear All
new posts

  • รีวิวทดสอบ ASUS ZenPower ครับ



    ปกติ ผมชอบเล่นพวก powerbank
    ตอนที่เห็นรีวิว ASUS ZenPower ของเว็บ ถูกใจ ถูกราคา
    ก็เลยโพสบอกไปว่า ถ้าไปงานคอมมาร์ต เจอลดราคาถูกๆ จะซื้อมารีวิวให้ดูครับ
    ก็ไปนะ เจอแต่ แตงไทยกระทิ หมึกย่าง อาหารเสริมบีโพเล่น ฯลฯ
    ASUS ZenPower ไม่เห็นแม้แต่เงา

    วันก่อนโน้น(ปีที่แล้ว) นึกถึง ก็เลยลองถามอากู๋ เจอร้านดังเค้ามีโปรฯ แถมขายแบบเก็บเงินที่บ้าน
    ดูแล้วก็สะดวกดี ก็เลยสั่งไป วันรุ่งขึ้นก็มาส่ง
    ก็เลยเอามาเทส แล้วก็เขียนรีวิวไว้ ก็ตั้งแต่สองเดือนก่อนนะ
    แต่เนื้อหามันค่อนข้างเยอะ+ยาว ก็เลยต้องตัด+กรองออกบ้าง ก็เลยดองไว้ก่อน
    สองสามวันนี้ ก็หยิบมาย่อยจนเหลืออย่างที่เห็นครับ

    ที่ได้มา มีสองแบบ 10050mAh กะ 9600mAh
    กล่องใส่เล็กเท่าตัว powerbank มีสายแบนสั้นๆ กะคู่มือ ตามรูปครับ


    จุดขายเค้าโปรโมทว่ามีขนาดเท่าบัตรเครดิต
    ผมเอาบัตร pin phone 108 (ขนาดเท่าบัตรเครดิต) วางทับลงไป ก็ใกล้เคียงนะ


    สาย USB <-> micro USB แบบแบนสั้น น่ารักดี ผมชอบมาก

    วัดความยาวสายไฟ (ไม่รวมหัวเสียบ) ได้ 11.5 cm.

    หัวเสียบ ปั้มยี่ห้อ ดูดี มีราคา


    ด้านบน เป็นส่วนที่ใช้งาน มีเทปพลาสติก ปิดป้องกัน และให้ความรู้สึกดีว่าเป็นของใหม่ซิงๆ


    เปิดเทปออก จะเห็นหน้าตา ดูเรียบๆแต่มีระดับ ดูแล้วมีความประณีตดีครับ


    ทั้งเครื่อง มีปุ่มให้กดปุ่มเดียว เหมือนกะ powerbank ปกติทั่วไป
    คือ กดเพื่อให้จ่ายไฟออก และแสดง % ความจุของแบตเตอรี่
    ตอนแกะกล่อง ทั้งสองตัว มีไฟติดกระพริบสองดวงเหมือนกัน ก็คือเก็บไฟอยู่ประมาณครึ่งนึง


    ส่วนก้นของ powerbank มีบอกเดือน/ปี ที่ผลิต สเปค และโลโก้การันตีต่างๆ มี มอก. 2217-2548 ด้วย


    มอก. 2217-2548 เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างเดียวนะครับ ไม่เกี่ยวกะสเปคการเก็บไฟจ่ายไฟ
    ต้องเป็น มอก. 2218-2548 ถึงจะรับรองว่าแบตเตอรี่ได้มาตรฐานการเก็บไฟจ่ายไฟ

    โดยรวมแล้ว ถูกใจผมมาก ตอนนี้ คะแนนเต็มร้อย ให้คะแนน 150 ครับ
    ก็เลยจัดมาเทส 6 ตัว


    เป็นแบบ 10050mAh กะ 9600mAh อย่างละ 3 ตัวเท่ากัน


    ลป. กระทู้นี้ คำว่า แบต ,ถ่าน ,แบตเตอรี่ คืออันเดียวกันนะ

  • #2
    มาดูสเปคที่ก้น powerbank อีกทีครับ



    INPUT/OUTPUT = แรงดันไฟฟ้าเข้า/ออก = 5 Volt = แรงดันไฟฟ้าตามมาตรฐาน USB
    ใช้ CELL = แบตเตอรี่ แบบ Rechargeable Li-ion
    รุ่น 10050 ใช้แบตเตอรี่ แบบ 3.6V /36Wh
    รุ่น 9600 ใช้แบตเตอรี่ แบบ 3.75V /36Wh

    ตรงกะที่คู่มือบอกไว้ครับ



    โครงสร้างหลักของ powerbank จะมี 3 ส่วน
    1. วงจร step-down switching voltage regulator สำหรับแปลงไฟขาเข้า 5V เพื่อประจุไฟให้แบตเตอรี่
    2. แบตเตอรี่
    3. วงจร step-up switching voltage regulator สำหรับแปลงไฟจากแบตเตอรี่ เพื่อจ่ายไฟออก 5V


    powerbank ทุกรุ่น จะมีบอกความจุเป็นตัวเลข mAh


    mAh มากกว่า แปลว่า เก็บไฟได้มากกว่า
    รุ่น 10050mAh จะชาร์จไฟให้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้มากกว่า รุ่น 9600mAh
    ไม่ใช่ครับ !

    ที่ถูกต้องแล้ว เราต้องดูเป็นรูปของพลังงานครับ
    พลังงาน มีหน่วยเป็น Joule = watt-hour (Wh)
    ถ้าดูแบบนี้ ทั้งรุ่น 10050mAh กะ รุ่น 9600mAh จะเก็บไฟได้เท่ากันคือ 36Wh
    ครับ จริงๆแล้ว รุ่น 10050mAh กะ รุ่น 9600mAh จะเก็บไฟได้เท่ากันครับ

    เมื่อเก็บไฟได้เท่ากัน ทั้งสองรุ่น ก็จะจ่ายไฟได้เท่ากัน
    และควรใช้ระยะเวลาชาร์จไฟเท่ากันด้วย
    ที่คู่มือบอกไว้ 5.5 vs 6 ,8.5 vs 9 ชม.


    ตรงนี้ก็เป็นการบอกสเปคที่ผิดครับ

    Comment


    • #3
      ดูสเปคที่คู่มืออีกทีครับ


      จะเห็นชัดเจนว่า 9600mAh ,10050mAh ที่เค้าบอก เป็นค่าความสามารถในการจ่ายกระแสของแบตเตอรี่
      ไม่ใช่ของ powerbank ครับ !

      ตามมาตรฐานจริงๆ ต้องบอกค่าความสามารถในการจ่ายไฟของ powerbank ด้วย
      หลายท่านคงบอกว่า เค้าก็บอกแบบนี้ทั้งนั้นแหละ

      มีตัวอย่าง ASUS ZenPower รุ่น 9600mAh แต่ขายที่ไต้หวัน
      ใช้ไส้แบตเตอรี่+วงจร เหมือนที่ขายในบ้านเราทุกอย่าง
      ใช้รหัส ABTU001 เหมือนที่ขายในบ้านเรา

      แต่จะเห็นว่า เค้ามีระบุค่าความสามารถในการจ่ายไฟของ powerbank (ไม่ใช่ของแบตเตอรี่)
      ความสามารถในการจ่ายไฟของแบตเตอรี่ = 9600mAh ,36Wh
      ความสามารถในการจ่ายไฟของ powerbank = 6510mAh ,32.55Wh
      6510mAh คูณ 5V = 32.55Wh ครับ

      ใช้แบตเตอรี่ 36Wh แต่จ่ายพลังงานออกมาได้ 32.55Wh
      เพราะมีการสูญเสียจากวงจรแปลงไฟขาออก 3. ครับ

      ยี่ห้ออื่น ก็มีบอกค่าความสามารถในการจ่ายไฟของ powerbank (ไม่ใช่ของแบตเตอรี่) เหมือนกันครับ
      เช่นตัวนี้ เขียนบอกไว้ข้างกันเลย

      ของแบตเตอรี่ 16000mAH 3.75V
      ของ powerbank 10800mAh 5.1V ชัดเจนนะครับ

      การบอกสเปคที่ได้มาตรฐานของ powerbank
      จะต้องบอกความสามารถในการจ่ายไฟของ powerbank ด้วยครับ
      เพราะค่านี้ คือค่าที่บอกเราว่า จะใช้ได้จริงเท่าไหร่

      ถ้าบอกแค่ของแบตเตอรี่อย่างเดียว
      เราจะบอกไม่ได้ว่า powerbank จ่ายไฟออกได้จริงเท่าไหร่

      Comment


      • #4
        วงจร switching voltage regulator เป็นวงจรพื้นๆง่ายๆ แต่มีความสำคัญมาก
        ใน psu ,mainboard ,การ์ดจอ ,tablet ,โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ล้วนมีวงจร switching voltage regulator อยู่ด้วยครับ

        psu ที่เราใช้กันในคอม ก็เป็น switching voltage regulator
        เดี๋ยวนี้ เราจะพบเห็นโลโก้ 80 Plus ติดอยู่ที่ psu หลายๆรุ่น

        โลโก้นี้จะบอกประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานของ psu ว่ามีเท่าไหร่

        ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงาน = energy efficiency = power output / power input
        เช่น power output = 85W ,power input = 100W
        ประสิทธิภาพ = efficiency = 85/100 = 85%
        แบบนี้ เราเรียกอีกอย่างได้ว่า มีการสูญเสีย = loss = 15%

        ถ้าเราดูตามเว็บต่างๆ จะพบเห็นทั่วไปว่า มีการระบุว่า powerbank ทั่วไป มีการสูญเสีย = loss 30%

        ลองถามอากู๋ตามเค้าบอก เจอเพียบเลย
        http://www.google.co.th/search?hl=th...2+Google&gbv=1









        ศูนย์เสีย !






        เจอแบบนี้ทั้งนั้นเลย บอกว่าสูญเสียพลังงาน 30% เหมือนกันหมด
        ขอบอกว่า ผิดหมดเลยครับ !

        ดู ASUS ZenPower 9600mAh รุ่นที่ขายที่ไต้หวันอีกทีครับ

        ความสามารถในการจ่ายไฟของแบตเตอรี่ = 9600mAh ,36Wh
        ความสามารถในการจ่ายไฟของ powerbank = 6510mAh ,32.55Wh

        ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงาน = energy efficiency = power output / power input
        ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานออกจาก ASUS ZenPower 9600mAh = 32.55/36 = 90%
        แปลว่า สูญเสียจากการแปลงพลังงาน 10% ครับ
        ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงาน ต้องดูที่ Wh ไม่ใช่ mAh ครับ
        และอันนี้ คือ ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานของวงจรจ่ายไฟออก ไม่ใช่ประสิทธิภาพของตัว powerbank ทั้งตัวนะ (งงมั้ย?)

        อันนี้ ผมเทสประสิทธิภาพของตัว powerbank ทั้ง 6 ตัว ให้ดูครับ

        ประสิทธิภาพอันนี้ คิดจาก พลังงานที่จ่ายออกทั้งหมด/พลังงานที่ชาร์จเข้าไปทั้งหมด
        ไม่ใช่ประสิทธิภาพเฉพาะภาคจ่ายไฟออกนะครับ
        ผมทดสอบที่โหลดกระแสต่างๆ จะเห็นว่า กระแสยิ่งมาก ประสิทธิภาพจะยิ่งลดลง

        ถ้าวัดเฉพาะภาคจ่ายไฟออก ก็จะได้เหมือนกะกราฟข้างบน แต่จะดีกว่าประมาณ 2%
        ถ้าโหลดไม่เกิน 1A ประสิทธิภาพจะได้แถวๆ 90% ตรงกะสเปคที่รุ่นไต้หวันบอกไว้ครับ

        ส่วนประสิทธิภาพวงจรชาร์จแบตเตอรี่ ที่ 1A และ 2A สูงมากแถวๆ 92-94%
        ตอนชาร์จแบต powerbank ไม่ร้อน ถ้าเลือกชาร์จที่ 2A ได้ จะดีกว่าที่ 1A
        และใช้เวลาชาร์จจริงน้อยกว่าที่คู่มือบอกเยอะครับ (น้อยกว่าเป็น ชม.เลย)

        Comment


        • #5
          ทบทวน โครงสร้างหลักของ powerbank ครับ
          1. วงจร step-down switching voltage regulator สำหรับแปลงไฟขาเข้า 5V เพื่อประจุไฟให้แบตเตอรี่
          2. แบตเตอรี่
          3. วงจร step-up switching voltage regulator สำหรับแปลงไฟจากแบตเตอรี่ เพื่อจ่ายไฟออก 5V


          เวลาเราชาร์จไฟเข้าแบตของ powerbank จะต้องผ่านวงจร 1. ก่อน
          เพื่อกำหนดแรงดัน+กระแส ให้เหมาะกับสภาพแบตเตอรี่ของ powerbank

          เช่นกัน เวลาเราชาร์จไฟเข้าแบตของ โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ ก็จะต้องผ่านวงจร 1. ก่อน
          เพื่อกำหนดแรงดัน+กระแส ให้เหมาะกับสภาพแบตเตอรี่ของ โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ
          เหมือนกันเป๊ะๆครับ
          ตรงนี้เป็นจุดที่ไม่เห็นใครพูดถึงนะ

          วงจร switching voltage regulator จะแปลงพลังงานตามสูตร Watt out = Watt in x efficiency
          Vout x Iout = Vin x Iin x efficiency
          ถ้าสมมุติให้ efficiency = 100% คือไม่มีการสูญเสียเลย เพื่อตัดเรื่อง Loss ออกไป(จะได้เข้าใจง่ายนะ)
          จะได้สูตร Vout x Iout = Vin x Iin
          ถ้า Vin เป็นสิบเท่าของ Vout ,Iout จะเป็นสิบเท่าของ Iin
          ถ้า Vout เป็นสิบเท่าของ Vin ,Iin จะเป็นสิบเท่าของ Iout
          จะเห็นว่า กระแสออก จะมากกว่า หรือน้อยกว่า กระแสเข้า ก็ได้ (ไม่เกี่ยวกะ Loss เลย)

          ตัวอย่างวงจร 1. step-down switching voltage regulator
          แปลงไฟเข้า จากแบตเตอรี่ 12V เป็นไฟออก 5V


          ไฟเข้า 12.4V 0.68A (มิเตอร์ตัวนี้ ถ้าเกิน 10V มันจะไม่เปลี่ยนจุดให้ครับ)


          ไฟออก 4.86V 1.54A


          จะเห็นว่า แรงดันไฟฟ้าออกลดลง แต่กระแสไฟฟ้าออกเพิ่มขึ้น

          ให้ดูอีกตัวอย่าง ใช้มิเตอร์วัดกระแสอย่างเดียว จะได้เห็นชัดๆ
          ไฟเข้าจากแบตเตอรี่ 12V ก้อนเดิม


          กระแสไฟฟ้าเข้า 0.59A กระแสไฟฟ้าออก 9.51A เพิ่มขึ้นเกินสิบเท่า !


          เวลาที่เราใช้ powerbank ชาร์จไฟเข้า โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ
          กระแสไฟฟ้าที่ชาร์จเข้าแบตเตอรี่ของ โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ
          จะมากกว่ากระแสไฟฟ้าที่ออกจาก powerbank ครับ
          ตรงนี้เป็นจุดที่ไม่เห็นใครพูดถึงครับ

          อันนี้ ตัวอย่างวงจร 3. step-up switching voltage regulator
          รับไฟเข้า จากแบตเตอรี่ 6V


          ไฟเข้า 6V 1.55A


          ไฟออก 9.85V 0.81A


          จะเห็นว่า แรงดันไฟฟ้าออกเพิ่มขึ้น แต่กระแสไฟฟ้าออกลดลง
          กระแสไฟฟ้าที่ออกจาก powerbank จะน้อยกว่ากระแสไฟฟ้าที่ออกจากแบตเตอรี่ภายใน powerbank ครับ

          วงจร switching voltage regulator จะแปลงพลังงานตามสูตร watt out = watt in คูณ efficiency
          สาเหตุหลักของความแตกต่างของ ค่ากระแสเข้า vs ออก ไม่ใช่เพราะ loss ครับ

          เวลาที่เราใช้ powerbank ชาร์จไฟเข้า โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ
          พลังงานไฟฟ้า จะออกจาก
          A. แบตเตอรี่ของ powerbank -> B.
          B.-> ผ่านวงจร 3. step-up switching voltage regulator ของ powerbank -> C.
          C.-> ผ่านสายเชื่อมต่อ -> D.
          D.-> ผ่านวงจร 1. step-down switching voltage regulator ของ โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ -> E.
          E.-> ประจุพลังงานไฟฟ้า เข้า แบตเตอรี่ของ โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ

          ทุกขั้นตอน จะมีการสูญเสียพลังงานครับ
          ถ้าจะคิด loss ในการใช้ powerbank ชาร์จไฟให้ โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ
          ต้องคิด loss รวมของ A+B+C+D+E ครับ
          และถ้าเราใช้สายเชื่อมต่อที่ดี ปกติการสูญเสียพลังงานรวมทั้งหมด จะไม่ถึง 30% ครับ

          การคิดจำนวนรอบที่ชาร์จได้ ให้คิดจากค่า Wh
          คือ ให้คิดจากค่า Wh ของ powerbank ,และค่า Wh ของแบตเตอรี่ของ โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ
          ไม่ใช่คิดจาก mAh ของแบตเตอรี่ของ โทรศัพท์มือถือ ,tablet ฯลฯ ครับ

          Comment


          • #6
            Teardown มาแกะไส้ดูข้างในกันครับ

            ตัวสีทอง 9600mAh ไส้ถ่านสีม่วง
            ตัวสีเงิน 10050mAh ไส้ถ่านสีแสด


            ใช้ถ่านรูปร่างทรงกระบอก ขนาดมาตรฐาน ที่เรียกว่า 18650 ขนานกันสามก้อน

            มีบาร์โค้ด และรหัสรุ่นติดอยู่ด้วย คุ้นๆแฮะ

            ก็เลยเอากล่องมาเทียบดู




            ตรงกันเป๊ะเลย

            ตัวสีเงิน 10050mAh ไส้ถ่านสีแสด ก็มีแปะตรงกะกล่องเหมือนกัน
            อันนี้ เข้าใจว่า เพื่อตรวจสอบสินค้าว่ายังอยู่ในช่วงที่รับประกันรึเปล่า (เวลาเคลม ไม่ยึดตามกล่อง เพราะกล่องสามารถสลับได้ง่าย)

            ก้อนสีม่วง เป็นถ่าน 3.75V 3200mAh ยี่ห้อ LG


            ก้อนสีแสด ปั๊มตัวหนังสือจางมาก จนแทบมองไม่เห็น
            SANYO NCR18650BF


            เป็นถ่าน 3.6V 3350mAh ครับ

            แผงวงจรด้านบน ของตัว 9600mAh
            มีการใช้พวกกาวซิลิโคนปิดเลอะๆไว้ ไม่รู้ว่าเจตนาอะไรนะ


            แต่แผงวงจรด้านบน ของตัว 10050mAh กลับสะอาดตา


            จริงๆแล้วทั้งสองรุ่น ใช้ลายปริ้นท์อันเดียวกันได้ เพราะใช้วงจรแบบเดียวกัน (เปลี่ยนแค่ค่าอุปกรณ์ไม่กี่ตัวก็พอ)
            แต่จากที่เห็น เค้าใช้แผงวงจรที่ต่างกันพอควร และมีการใช้ค่าอุปกรณ์ที่ต่างกันหลายตัว (เยอะ)

            มีการใช้เทปแปะหัววัดอุณหภูมิที่ตัวถ่านด้วย ตรงที่สายไฟสีเทาลากลงมานะ

            ถ้าถ่านร้อนเกิน จะมีวงจรตัดการทำงานครับ


            มีการใช้กาวอีพ๊อกซี่ใสเคลือบส่วนที่นำไฟฟ้าได้ เพื่อป้องกันการช๊อตโดยไม่ตั้งใจ
            เพราะวงจรถูกต่อกับถ่านตลอดเวลา ก็คือมีไฟฟ้าตลอด ถือว่ารอบคอบดีครับ


            ที่เห็นข้างบน สี่เหลี่ยม - กลม 3 อัน อันนี้เชื่อมกะขา USB
            เคลือบแบบนี้ก็ใช้เครื่องมือวัดการทำงานแต่ละจุดไม่ได้


            ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สุดของวงจร MP2636 ทำหน้าที่ควบคุมการแปลงไฟเข้า-ออกทั้งหมด
            โดนเคลือบจนมองไม่เห็นขาเลย



            ปริ้นท์อีกด้าน เป็นส่วนแสดงผล มี LED 4 ดวง แสงสีขาวสว่างมาก มีสวิทซ์กดติดปล่อยดับตัวจิ๋วด้วย



            ic ตัวมุมล่างขวา เป็น microcontroller ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงผล และการทำงานทั่วไป


            microcontroller คือ คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วนะ

            สายเชื่อมต่อที่ให้มา

            ไส้ข้างใน เป็นสายไฟ 5 เส้น สายไฟเส้นที่เป็น data +- ใช้สายไฟเส้นเล็ก
            สายไฟเลี้ยง ชมพูเข้ม - 5V ,เทา - Ground ใช้สายไฟเส้นใหญ่
            ตรงกลางเป็นสายเปลือย เชื่อมหัวต่อทั้งสองข้าง
            โดยวงจรของ ZenPower ตัวนี้ จะใช้สายเปลือยนี้ ต่อกะ Ground เพื่อลดความต้านทานไฟฟ้าในการจ่ายไฟ (ฉลาดดี)

            Comment


            • #7
              เริ่มทดสอบด้านไฟฟ้ากันครับ
              เนื่องจากวงจรทั้งสองรุ่นเหมือนกันเกือบทุกอย่าง
              การทดสอบหลายๆอย่างที่ให้ผลเหมือนกัน ก็จะไม่วัดให้ดูซ้ำกันนะ
              แล้วก็จะเอาตัว 9600mAh มาใช้รีวิวเป็นหลักครับ

              วัดไฟออกจากหัว USB ที่แผงวงจรครับ (วัดที่ต้นทาง)
              ตอน idle

              -3.91V ไฟออกติดลบครับ !

              กดสวิทซ์เพื่อจ่ายไฟออก (ยังไม่ได้เอาอะไรมาเสียบเลย)

              วัดได้ 5.0988V

              เอามิเตอร์วัดไฟ USB มาเสียบเฉยๆ (โหลดกระแส 12.2mA)
              มิเตอร์ USB วัดได้ 5.13V

              Fluke วัดได้ 5.0979V

              ให้สังเกตุว่า ค่าจากมิเตอร์ทั้งสองตัวต่างกันยังไงนะครับ

              โหลดกระแส 0.59A
              มิเตอร์ USB วัดได้ 4.99V

              Fluke วัดได้ 5.0701V


              โหลดกระแส 1.14A
              มิเตอร์ USB วัดได้ 4.92V

              Fluke วัดได้ 5.0434V


              โหลดกระแส 2.16A
              มิเตอร์ USB วัดได้ 4.82V

              Fluke วัดได้ 4.9894V


              ผลการวัดแรงดันไฟฟ้าที่จ่ายออกมาจัดว่าดีมาก
              จ่ายกระแสกว่า 2A แรงดันไฟฟ้าก็ยังได้ 4.9894V
              เกือบ 5V เป๊ะ แทบไม่ตกเลย

              แต่เวลาเราใช้งานจริง เราต้องเสียบสายไฟ จะมีแรงดันตกคร่อมหัวเสียบและสายไฟที่ใช้เสียบ
              ยิ่งกระแสมากเท่าใด แรงดันไฟฟ้าปลายทางก็ยิ่งตกมากตามเท่านั้น
              จะเห็นชัดเจนว่า ผลการวัดแรงดันไฟฟ้าที่มิเตอร์ USB วัดได้ จะตกมากเมื่อกระแสมาก
              เพราะมีการสูญเสียที่หัวเสียบ+สายไฟครับ

              ตัว 10050mAh ผมทดสอบโหลดถึง 2.4A (max ตามสเปค) ผลตามกราฟครับ

              Comment


              • #8
                powerbank รุ่นนี้ รับไฟเข้าทางช่อง micro USB
                จากการทดสอบ วงจรชาร์จไฟเข้า จะชาร์จด้วยกระแสที่ดึงผ่านช่อง micro USB ที่เกือบ 2A หรือ 1A เป๊ะ (constant)
                โดยวงจรจะมีการตรวจสอบเบื้องต้น ว่าจะเลือกใช้ค่าไหนดี (เดี๋ยวจะลงรายละเอียดทีหลัง)
                จนประจุถ่านเริ่มเต็ม กระแสจึงค่อยๆลดลง แล้วจะตัดการชาร์จอัตโนมัติเมื่อถ่านเต็ม 100%
                ก็เสียบชาร์จทิ้งไว้ได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร

                ถ่าน SANYO สีแสด 3.6V 3350mAh สเปคตามนี้ครับ

                ค่า 3.6V เรียกว่า ค่าแรงดันไฟฟ้ากลาง (Nominal Voltage)
                ตามสเปค เมื่อชาร์จไฟเต็ม ถ่านจะมีแรงดันไฟฟ้าที่ 4.2V

                ตอนนี้วงจรยังชาร์จไฟเข้าอยู่ กำลังจะเต็ม กำลังจะตัดการชาร์จละ
                วัดแรงดันไฟฟ้าของถ่านได้ 4.2033V


                ตอนนี้วงจรตัดการชาร์จละ แรงดันไฟฟ้าของถ่านลดลงนิดนึง
                วัดได้ 4.2000V ตามสเปคเป๊ะ !


                เมื่อมีการคายประจุไฟฟ้าออกไป แรงดันไฟฟ้าของถ่าน จะค่อยๆลดลง เหมือนกะถ่านทุกแบบในโลกนะ
                สำหรับถ่านสีแสดของ SANYO รุ่นนี้ สเปคจะให้คายประจุได้จนถึงแรงดันไฟฟ้า 2.5 V
                ก็คือ แรงดันไฟฟ้าของถ่านรุ่นนี้ จะอยู่ระหว่าง 2.5 V ถึง 4.2 V (ขึ้นกับปริมาณประจุที่เก็บอยู่)
                ตามกราฟรูปนี้ครับ


                ส่วนถ่าน LG สีม่วง 3.75V 3200mAh สเปคตามนี้ครับ

                ก็คือ แรงดันไฟฟ้าของถ่านรุ่นนี้ จะอยู่ระหว่าง 2.75V ถึง 4.35V
                ให้สังเกตุว่า ระดับแรงดันไฟฟ้าของถ่าน SANYO กะ LG ไม่เท่ากัน

                ตอนนี้วงจรยังชาร์จไฟเข้าอยู่ กำลังเต็ม กำลังจะตัดการชาร์จละ
                วัดแรงดันไฟฟ้าของถ่านได้ 4.3444V

                เกือบเท่าสเปคแรงดันไฟฟ้า 4.35V ถือว่าเป๊ะเช่นกัน

                ic ที่ทำหน้าที่ชาร์จไฟนี้ คือ MP2636


                MP2636 ทำหน้าที่ควบคุมทั้งการชาร์จถ่าน และแปลงไฟจากถ่านเป็นไฟ 5V จ่ายออกทาง USB
                ก็คือ ทำหน้าที่ทั้ง 1. และ 3. เหมาคนเดียวครับ
                MP2636 เป็น ic ที่มีการทำงานเหมือนระบบคอมพิวเตอร์
                ถูกออกแบบให้มีการทำงานเป็นขั้นตอน มีการตัดสินใจ และมีระบบป้องกันที่ดีมาก
                ถูกออกแบบให้ชาร์จถ่านได้ 3 ระดับแรงดัน คือ 4.2V / 4.3V / 4.35V
                จึงใช้ได้กับถ่าน SANYO 4.2V และถ่าน LG 4.35V

                ตอนเริ่มชาร์จถ่าน วงจรจะมีการทดสอบดึงกระแสไฟ เพื่อเลือกโหมดชาร์จ 1A หรือ 2A
                ถ้าสามารถดึงกระแสไฟได้ไม่ต่ำกว่าประมาณ 1.85A และแรงดันไฟเข้าไม่ตกมาก
                วงจรจะเลือกให้ชาร์จถ่าน ด้วยค่ากระแสนั้น เช่น 1.85A
                อันนี้เรียกว่าโหมด 2A

                แต่ถ้าดึงกระแสไฟได้ไม่ถึง 1.85A หรือแรงดันไฟเข้าตกมาก
                จะเลือกให้ชาร์จถ่าน ด้วยกระแส 1A ครับ

                อันนี้ทดสอบให้ดึงกระแสไฟได้ 1.8A

                เริ่มเสียบไฟเข้า วินาทีที่ 2
                วงจรเริ่มทดสอบการชาร์จด้วยกระแสน้อยๆประมาณ 5 วินาที
                แล้วเริ่มดึงกระแสเต็มที่ ดึงได้ 1.809A ประมาณ 4 วินาที วงจรจึงลดการดึงกระแสเหลือ 1.01A


                อันนี้ทดสอบให้ดึงกระแสไฟได้ 1.9A

                เริ่มเสียบไฟเข้า วินาทีที่ 1.5
                วงจรเริ่มทดสอบการชาร์จด้วยกระแสน้อยๆประมาณ 5 วินาที
                แล้วเริ่มดึงกระแสเต็มที่ ดึงได้ 1.9047A แล้วดึงค่ากระแสนี้ยาวๆเลย


                จากการทดสอบ หลายสิบรูปแบบ
                ได้ผลว่า วงจรถูกออกแบบให้เข้มงวดกะการโหลดกระแสไฟมาชาร์จ เข้าใจว่า เพื่อความปลอดภัย
                คือถ้าวงจรเช็คแล้ว ไม่ชัวร์ว่าตัวชาร์จไฟ(เช่น อแดปเตอร์) จ่าย 2A ไหว
                หรือถ้าแรงดันไฟเข้าต่ำลงนิดนึง หรือความต้านทานสายไฟมากนิดนึง
                วงจรจะเลือกให้ชาร์จถ่าน ด้วยโหมดกระแส 1A ครับ (แม้ว่าอแดปเตอร์จะจ่ายได้ 1.8A ก็ตาม)

                แม้แต่การเสียบด้วยสายชาร์จของ Zenpower และเสียบจาก Zenpower อีกตัว
                ถ้าหัวเสียบไม่แน่นฟิตมากพอ วงจรก็จะเลือกให้ชาร์จ ด้วยโหมดกระแส 1A (ไม่ใช่ 2A)

                ถ้าใช้มิเตอร์วัดกระแส อนุกรมกะสายชาร์จ
                จะเพิ่มความต้านทานไฟฟ้าในวงจรชาร์จไฟ
                จะทำให้ วงจรจะเลือกให้ชาร์จถ่าน ด้วยกระแส 1A
                แปลว่า การใช้มิเตอร์วัดกระแส อนุกรมกะสายชาร์จ จะทำให้วงจรทำงานผิดจากเดิม !

                ผมทดลองเอา USB meter 7 ตัว ต่ออนุกรมกัน ให้ดูเล่นครับ
                แล้วเสียบไฟจาก voltage regulator ที่มีมิเตอร์วัด V ,I ,W ที่โหลดใช้

                ผมตั้งไฟออกสูงนิดนึงนะ เผื่อเวลามีโหลด ไฟออกที่มิเตอร์ตัวสุดท้ายจะได้เหลือเยอะนิดนึง
                ตอนนี้เสียบเปล่าๆ ไม่ได้ต่อโหลด


                ตัวเลขล่างขวา ของมิเตอร์แต่ละตัว คือลำดับในการเสียบ
                ตัว charger doctor สีน้ำเงิน เป็นตัวที่ 4
                ให้สังเกตุว่า ค่าแรงดันไฟฟ้าที่วัดได้จากมิเตอร์แต่ละตัว จะคลาดเคลื่อนกันบ้างเล็กน้อยครับ


                ทีนี้ต่อโหลดที่ดึงกระแสประมาณ 0.7A
                มิเตอร์ที่ผมใช้ ถ้าแรงดันไฟฟ้าวัดได้ต่ำกว่ามาตรฐาน USB จอแสดงผลจะกระพริบเตือน
                รูปนี้ จะเห็นมิเตอร์ตัวสุดท้าย จอดับ(ไม่แสดงผล)
                แต่จริงๆคือ จอแสดงผลมันกำลังกระพริบอยู่ แล้วถ่ายรูปติดตอนที่มันดับนะ




                เอาค่าที่วัดได้ มาใส่ตารางเปรียบเทียบ

                จะเห็นว่า ตอนไม่มีโหลด ค่าที่วัดได้ ใกล้เคียงกันทั้งเจ็ดตัว
                แต่พอมีโหลด จะเกิดแรงดันไฟฟ้าตกคร่อมตัวมิเตอร์ (V drop)
                ทำให้ตัวท้ายๆ วัดแรงดันไฟฟ้าได้น้อยลงตามลำดับ

                ที่กระแสประมาณ 0.7A
                ค่า V drop ที่ตกคร่อมตัวมิเตอร์ทั้งเจ็ดตัว = 0.84V

                ถ้ากระแสมากกว่านี้ เช่น 2A
                จะมี V drop ที่ตกคร่อมตัวมิเตอร์ทั้งเจ็ดตัว = 2.4V !

                เห็นผลของการใช้มิเตอร์วัดกระแส อนุกรมกะสายชาร์จชัดเจนนะครับ

                เห็นเมืองนอก เค้ารีวิวกระแสชาร์จ โดยเค้าใช้มิเตอร์ตัวนี้

                ก็ขอเอามาเล่นมั่งครับ

                ผมลองเอามิเตอร์แบบเดียวกันนี้มาใช้เหมือนกะเค้า


                ลองหลายๆครั้ง ทุกครั้งได้ผลเหมือนกัน
                คือ วงจรจะเช็คกระแส แล้วไม่ผ่านโหมด 2A ก็เลยเลือกชาร์จที่กระแส 1A เสมอครับ

                ตัวเลขมิเตอร์ที่ตัว voltage regulator 0.98A เวลาถ่ายรูป มันไม่ค่อยชัดนะ

                แรงดันไฟฟ้าที่ใช้

                ตัวเลขมิเตอร์ที่ตัว voltage regulator 5.0V

                กำลังไฟฟ้าที่ใช้

                ตัวเลขมิเตอร์ที่ตัว voltage regulator 4.80W

                ถ้าใส่ USB มิเตอร์ ยังไงก็ไม่ชาร์จที่โหมด 2A ครับ

                ทีนี้ จะลองต่อตรง ไม่ผ่าน charger doctor ให้ดูครับ



                ตัวเลขมิเตอร์ที่ตัว voltage regulator 1.84A ,9.30W
                มิเตอร์วัดแอมป์ที่ตัว voltage regulator ตัวนี้ มีความผิดพลาด -4%
                ค่ากระแสที่จ่ายออกจริง คือ 1.91A ครับ

                พอต่อตรง ไม่ต่อผ่าน charger doctor วงจรชาร์จกระแสที่โหมด 2A ครับ

                ทีนี้จะลองต่อผ่าน charger doctor อีกที แต่เพิ่มแรงดันไฟเข้าเป็น 5.4V


                ได้แล้วครับ ชาร์จแบตที่โหมด 2A




                วัดกระแสที่ชาร์จถ่านจริงๆได้ 2.37A

                dc clamp มิเตอร์ตัวนี้ ถ้าวัดกระแสต่ำๆแบบนี้ จะ error +5%
                ค่าจริงๆจะได้ประมาณ 2.26A ครับ

                สรุปว่า ถ้าใช้มิเตอร์อนุกรม มันจะมีแรงดันไฟฟ้าคร่อมมิเตอร์ (V drop)
                ทำให้ไปลดแรงดันไฟฟ้าที่เข้าตัว powerbank
                และทำให้ไปลดกระแสที่เข้าตัว powerbank
                ทำให้วงจรเช็คว่า ไม่พร้อมโหลดกระแสที่ 2A จึงเลือกโหลดกระแสที่ 1A

                เมื่อเราเพิ่มแรงดันไฟฟ้าขึ้น ชดเชย V drop ของมิเตอร์
                แรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า ที่เข้าตัว powerbank จึงได้เต็มที่มากขึ้น
                จนทำให้วงจรเลือกชาร์จกระแสที่โหมด 2A

                ก็ทดลองให้ดู เผื่อคนที่ใช้มิเตอร์วัด แล้วเจอแต่ว่ามันชาร์จได้มากสุดแค่ 1A จะได้เข้าใจนะครับ

                Comment


                • #9
                  รออ่านอย่างใจจดใจจ่อ ^^

                  Comment


                  • #10
                    การใช้งานแบตเตอรี่ แบบ Li-ion
                    โดยทั่วไปจะแนะนำไม่ให้ใช้จนแบตหมด หรือใช้จนแบตเหลือน้อยมาก เพราะจะทำให้แบตเสื่อมเร็ว
                    ผมเอง เคยใช้แบตเน็ตบุ๊คจนเกือบหมดเกลี้ยงสองครั้ง
                    ทำให้ตอนนี้ ความจุแบตหายไปเกือบครึ่งนึงเลยครับ
                    คำแนะนำนี้ ถูกต้องครับ

                    แต่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการว่า จริงๆแล้ว เหลือน้อยสุดได้กี่ %
                    มีแต่แนะนำกันเท่านั้น เท่านี้ 30% ก็เห็นบ่อย

                    ตัว ZenPower มีไฟแสดงสถานะของแบตเป็น LED 4 ดวง

                    ผมจะทดสอบการจ่ายไฟจนไฟ LED กระพริบเหลือ 1 ดวง ตามคู่มือ คือ 25%
                    ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ปลอดภัยครับ

                    ทั้ง 6 ตัว จะชาร์จไฟจนเต็ม (จนตัดกระแสเข้าเอง)
                    แล้วจึงเริ่มทดสอบโหลดด้วย R 3 ค่า
                    เพื่อโหลดกระแสไฟคงที่ที่ประมาณ 0.59A ,1.16A ,2.2A
                    จนไฟ LED กระพริบเหลือ 1 ดวง ผลออกมา เป็นตามนี้ครับ

                    ตัวเลขที่วัดได้ คือค่า mAh ที่จ่ายออกมา

                    ตามที่ผมได้อธิบายข้างบนว่า ทั้งสองรุ่น เก็บพลังงานไฟฟ้าได้เท่ากัน
                    ผลการทดสอบ จึงควรออกมาใกล้เคียงกัน
                    แต่ผลการทดสอบจริงที่ได้ กลับแตกต่างกันแบบชัดเจน ดูแล้วแปลกมากๆ

                    ที่โหลด 0.59A รุ่น 9600 จ่ายออกมาได้มากกว่าเฉลี่ย 13.4%
                    ที่โหลด 1.16A รุ่น 9600 จ่ายออกมาได้มากกว่าเฉลี่ย 8.96%
                    ที่โหลด 2.2A รุ่น 9600 จ่ายออกมาได้น้อยกว่าเฉลี่ย 19.4%
                    แบตจุเท่ากัน แต่จ่ายไฟได้ต่างกันถึง 32.8% !
                    ผลออกมาแบบนี้ ทำให้เราสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้อย่างดีครับ

                    Comment


                    • #11
                      ตอนนี้ จะทดสอบการจ่ายไฟจาก powerbank แบบละเอียด
                      อันนี้เป็นผลการทดสอบรุ่น 9600mAh ที่โหลด 2.2A (กระแสไฟฟ้าที่จ่ายออกจากหัว USB ของ powerbank)

                      เส้นสีน้ำเงิน คือแรงดันไฟฟ้าของถ่านตอนไม่มีโหลด
                      เส้นสีแดง คือแรงดันไฟฟ้าของถ่านตอนมีโหลด 2.2A
                      จุดสีเขียวซ้ายสุด คือ 100% LED ติด 4 ดวง
                      จะเห็นว่า ตำแหน่งของจุดสีเขียว เบี้ยวไปทางซ้ายมาก
                      คือ จุดกลางๆควรจะเป็นตำแหน่ง 50% แต่กลับเป็น 25%
                      แปลง่ายๆครับ การแสดงผลของ LED ไม่ตรงกะความจุที่แท้จริงค่อนข้างมาก

                      LED เหลือดวงเดียว ความจุตอนนั้นน่าจะเหลือแค่ 25%
                      แต่ความจริงแล้ว ประจุตอนนั้นเหลือเกือบครึ่งนึงเลยครับ
                      เมื่อทดสอบต่อไปเรื่อยๆ จน LED กระพริบถี่ ซึ่งตามคู่มือคือ 5%
                      มันก็กระพริบถี่ครั้งเดียว แล้ว LED ก็ดับ ไม่กระพริบอีกเลย = 0%
                      แม้ LED จะดับ ซึ่งแปลว่าความจุตอนนั้นเหลือ 0%
                      แต่ก็พบว่า มันยังจ่ายไฟออกมาได้เรื่อยๆ เหมือนปกติทุกอย่าง !
                      แถมจ่ายออกมาได้อีกเพียบเลย จนได้ถึง 5920mAh ผมถึงหยุดครับ

                      อันนี้เป็นผลการทดสอบรุ่น 10050mAh ที่โหลด 2.2A

                      รุ่นนี้ การแสดงผลของ LED ใกล้เคียงความจริง
                      ตำแหน่ง 50% อยู่เกือบกลาง และ ตำแหน่ง LED off อยู่เกือบขวาสุด
                      ผมทดสอบได้ถึง 5970mAh ผมถึงหยุดครับ

                      ผลทดสอบตอนแรก ที่หยุดเมื่อ LED เหลือดวงเดียว
                      พบว่าที่โหลด 2.2A รุ่น 10050mAh จ่ายไฟได้มากกว่ารุ่น 9600mAh อยู่ 24%

                      แต่พอทดสอบละเอียด พบว่าการแสดงผลของ LED ของรุ่น 9600mAh ผิดเพี้ยนไปมาก
                      และเมื่อทดสอบจนความจุเกือบหมดเกลี้ยง
                      พบว่าที่โหลด 2.2A รุ่น 10050mAh จ่ายไฟได้เท่ากับรุ่น 9600mAh เลย (5970 vs 5920)

                      ดูรูปนี้อีกทีครับ

                      เค้าระบุว่า ความสามารถในการจ่ายไฟของ powerbank = 6510mAh ,32.55Wh
                      ให้สังเกตุว่า ค่านี้ เค้าไม่ได้บอกว่าทดสอบที่โหลดกระแสเท่าไหร่ครับ

                      ผลการทดสอบที่ 2.2A ของผม ซึ่งถือว่าเกือบ max (2.4A)
                      ได้ประมาณ 5945mAh = 29.7Wh ถือว่าน่าพอใจครับ
                      เพราะยังไปต่อได้อีก แต่ผมหยุดก่อน กลัวแบตเสื่อม

                      ทีนี้ จะลองทดสอบรุ่น 9600mAh ตัวเดิม ที่โหลดน้อยๆ 0.49A แบบรีดสุดๆให้ดูครับ (ยอมเสื่อมตัวนึง)

                      จะเห็นว่า ตำแหน่ง 50% ที่ตอนแรก อยู่ไปทางซ้ายมาก ตอนนี้อยู่เกือบกลางไปทางขวา
                      และ ตำแหน่ง 25% ที่ตอนแรก อยู่เกือบกลาง ตอนนี้อยู่เกือบขวาสุด
                      เห็นชัดเจนนะครับว่า การแสดงผลของ LED ของรุ่น 9600mAh มีปัญหาเรื่องความแม่นยำ
                      ตอนนี้ ผมทดสอบแบบสุดๆ รีดไปจนถึง 6543mAh ถึงหยุดครับ

                      จากผลการทดสอบ ถ้าจะรีดให้สุดจริงๆ ก็เกินสเปคที่เค้าบอกได้ (6543mAh > 6510mAh)
                      แปลว่า powerbank ดี สเปคตรงครับ
                      ย้ำอีกทีว่า ไม่ควรทำการคายประจุจนเหลือน้อยมากขนาดนี้ เพราะจะทำให้แบตเสื่อมได้ครับ

                      Comment


                      • #12
                        ทดสอบอุณหภูมิตอนจ่ายไฟครับ
                        โหลด 0.59A

                        สบายๆครับ ทั้ง pcb อุณหภูมิสูงขึ้นนิดเดียว

                        โหลด 1.15A

                        เริ่มอุ่นๆจากตรงกลางๆ pcb ละ

                        โหลด 2.2A

                        MP2636 ร้อนมาก 62c แต่ก็พอทนได้ครับ
                        ถ้าจับเคสข้างนอก จะอุ่นนิดๆ

                        Comment


                        • #13
                          ทดสอบ ripple ครับ
                          จะทดสอบที่โหลด 0.8A
                          มี powerbank อีก 2 ยี่ห้อ 4 ตัวมาร่วมทดสอบให้ดูเปรียบเทียบด้วยครับ


                          ZenPower 9600mAh = 11.4mV



                          ZenPower 10050mAh = 22.6mV



                          WOPOW PD603 7500mAh = 34.4mV



                          WOPOW PD503 7800mAh = 128mV สูงมาก !




                          ASAKI A-DMC78 7800mAh = 14mV




                          ASAKI A-156 15600mAh = 79.2mV



                          จากผลทดสอบ ZenPower ทั้งสองรุ่น มี ripple ต่ำน่าพอใจมากครับ
                          และก็ให้สังเกตุว่า รุ่น 10050mAh มี ripple มากกว่า รุ่น 9600mAh เกือบเท่าตัว

                          Comment


                          • #14
                            ทดสอบสายชาร์จสี่เส้น ที่แถมมากะอุปกรณ์ต่างๆให้ดูครับ
                            จากซ้ายไปขวา
                            ZenPower ,WOPOW ,ASAKI ,โทรมือถือ LAVA W1


                            ผมจะใช้ ZenPower จ่ายไฟ 5V ผ่านสายชาร์จแต่ละเส้น เข้ามิเตอร์
                            ถ้าสายไฟดี จะมีแรงดันไฟฟ้าตกคร่อมสายไฟน้อย
                            ก็จะวัดแรงดันไฟฟ้าได้มาก กระแสได้มากครับ
                            ถ้าวัดแรงดันไฟฟ้าได้น้อย กระแสได้น้อย แปลว่าห่วยครับ

                            สายแบนที่มากะ ZenPower



                            สายชาร์จที่มากะ WOPOW powerbank



                            สายชาร์จที่มากะ ASAKI powerbank



                            สายชาร์จที่มากะ โทรมือถือ LAVA W1



                            จากผลวัด ก็ชัดเจนว่า สายชาร์จมีผลกะการจ่ายไฟค่อนข้างมาก

                            Comment


                            • #15
                              เนื่องจาก วงจรของ powerbank จะต่อกับแบตเตอรี่ตลอดเวลา
                              ก็จะทำให้แบตเตอรี่ต้องจ่ายไฟเลี้ยงวงจรตลอดเวลา
                              ถ้าวงจรกินไฟมาก จะทำให้แบตเตอรี่หมดเองเร็ว

                              ตัว ASUS ZenPower วัดกระแสเลี้ยงวงจรได้ 88 uA (microamp)
                              เรียกว่า น้อยมากๆๆๆๆจนไม่ต้องเอามาคิดเลยครับ

                              ก็จะเหลือการคายประจุของตัวแบตเตอรี่เอง
                              ผลทดสอบการคายประจุ เมื่อวางไว้เฉยๆ 35 วัน
                              รุ่น 9600mAh ประจุหายไป 1578mWh = 4.4%
                              รุ่น 10050mAh ประจุหายไป 678mWh = 1.9%

                              เก็บไว้เฉยๆเป็นเดือน ประจุหายไปไม่ถึง 5%
                              ก็เรียกว่าน้อยมากๆ เก็บไว้เป็นปี ก็น่าจะยังมีไฟเหลือครับ

                              ทดสอบถึงตอนนี้ คะแนนเต็มร้อย ก็ขอให้ 95 ครับ
                              ASUS ZenPower จัดเป็น powerbank ที่ดีมาก
                              จะมีข้อเสียตรงการแสดงผลความจุของรุ่น 9600mAh ที่คลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก
                              ซึ่งถ้าเราไม่รู้ข้อเสียจุดนี้ บางครั้งจะทำให้เราใช้งานได้ค่าความจุต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

                              สำหรับคนที่จะเอาไปใช้จ่ายไฟให้วงจรไฟฟ้าอื่นๆที่ไม่ใช่การชาร์จแบต
                              เช่น เอาไปจ่ายไฟเลี้ยงวงจรบนโปรโตบอร์ด ,เอาไปจ่ายไฟเลี้ยงให้ลำโพง USB
                              ถ้าวงจรดึงกระแสน้อย จะเจอปัญหาว่า ZenPower มันจะตัดไฟออกอัตโนมัติ
                              เพราะมันคิดว่าแบตที่กำลังชาร์จไฟให้เต็ม ก็ทำให้ไม่เหมาะที่จะเอาไปใช้กับวงจรโหลดน้อยๆครับ

                              ปิดท้ายด้วย powerbank ทำเองง่ายๆจากถ่าน ni-mh 1.2V ก้อนเดียว




                              ภาพอื่นๆปิดท้ายครับ





                              จบแล้วครับ

                              Comment

                              Working...
                              X