Announcement

Collapse
No announcement yet.

[Review] แกะกล่อง Acer Aspire 4930: แรงคุ้มค่า~ราคาเบาๆ

Collapse
X
 
  • Filter
  • Time
  • Show
Clear All
new posts

  • [Review] แกะกล่อง Acer Aspire 4930: แรงคุ้มค่า~ราคาเบาๆ

    สวัสดีครับ เพื่อนๆ พี่น้อง ชาว OCZ ทุกท่าน...

    เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับฤดู “เริ่มร้อน” และกำลังจะร้อนแบบเต็มตัวกันอีกไม่กี่วันนี้ มีโปรแกรมที่จะไปหลบร้อนที่ไหนไกลๆ กันมั่งหรือยังครับ... สำหรับเพื่อนๆบางคนที่ปิดเทอม หรือคนทำงานที่สามารถปลีกตัวจากงานประจำได้คงไม่มีปัญหา แค่คว้าเป้กับกล้องคู่ใจก็ไปลุยกันได้ทันที “แต่” กับคนที่ไม่ว่าวันไหนๆ งานก็จะติดตามตัวไปทุกที่ (อย่างผม) คงไม่ใช่เรื่องดีหากไปเที่ยวแล้วไม่มี Mobile Device ที่ถนัดมือไว้อยู่กับตัวให้อุ่นใจ จะไม่ต้องตาเหลือกเวลา “งานเข้า” ...

    และหนึ่งใน Mobile Device ที่หลายท่านมีติดตัวไว้ทุกที่นอกเหนือจากโทรศัพท์มือถือแล้วนั่นก็คือ คอมพิวเตอร์พกพา หรือที่ทุกคนเรียกว่า Notebook นั่นเอง...

    สำหรับความต้องการของผม คือต้องการ Notebook เพื่อใช้ “ทำงาน” เกี่ยวกับภาพและออกแบบเป็นหลัก, มีเอ็นเตอร์เทนมั่งเล็กน้อย, ไม่เล่นเกมส์, HDD 160 Gb. ขึ้นไป, และ CPU ขอเป็น Core 2 Duo ที่แรงที่สุดเท่าที่งบประมาณสองหมื่นนิดๆ จะหาได้... ซึ่งเมื่อเดินสำรวจในห้างจำหน่ายสินค้า IT ใจกลางเมืองจนขาแทบขวิดแล้ว ก็เจอเข้ากับ Notebook ที่ได้สเปกทุกอย่างตามที่ต้องการ นั่นคือ Acer Aspire 4930 641G25Mn
    (ชื่อรุ่นย๊าวยาว ผมขอเรียกว่าC035แล้วกันนะ ง่ายดี)

    ในวันนี้ผมจึงจับเอา Aspire 4930 C035 มานำเสนอรายละเอียดในส่วนต่างๆ แก่เพื่อนๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ ว่าในงบประมาณที่ไม่มากนัก Notebook ของ Acer ตัวนี้ สามารถรีดประสิทธิภาพออกมาได้ดีเพียงใด คุ้มค่ากับกะตังที่จ่ายไปหรือไม่ อะไรที่ดี และอะไรที่ด้อย เมื่อเทียบกับของคู่แข่ง...
    บ่นมาเยอะละ ไปดูกันเลยดีกว่า...


    **บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ในชุด**
    หลังจากที่ซื้อมาแล้วก็ดองไว้ในห้องตั้งอาทิตย์กว่า ไม่มีเวลาแกะมาใช้งาน คราวนี้ก็ได้ฤกษ์เปิดกล่องเอามาลองกันซักกะที





    ... แพกเกจของ Aspire 4930 C035 เป็นกล่องลูกฟูกผิวด้านธรรมดาๆ ขนาดกระจิ๋วหลิวพอดีตัว หน้ากล่องสกรีนลายกราฟฟิกรูป Key Pad มุมกล่องมีเว้าเป็นรูปโลโก้ยี่ห้อ ไม่มีบอกสเปกใดๆ ภายกล่องในเป็นถาดกระดาษรีไซเคิ่ลบรรจุอุปกรณ์ต่างๆ แยกกันเป็นสัดเป็นส่วน และในชุดขายทุกชุดจะให้กระเป๋าใส่อุปกรณ์รุ่นใหม่ของ Acer ที่ดูสวยกว่ารุ่นเก่า พร้อมกับซอฟท์เคสมาตรฐานมาด้วยทุกรุ่น

    อุปกรณ์ต่างๆ ในกล่องเมื่อรื้ออกมาแล้ว จะประกอบไปด้วย...





    -ตัวเครื่อง Acer Aspire 4930 C035
    -แบตเตอรี่มาตรฐานขนาด 1 ก้อน
    -อุปกรณ์ชาร์จแบตเตอร์รี่
    -Driver (สำหรับวิสต้า), โปรแกรม Kaspersky Antivirus (อายุ 1 ปี), และโปรแกรม Acer PowerPack
    -คู่มือใช้งาน 2 เล่ม, คู่มือรับประกัน 2 เล่ม, บัตรลงทะเบียนประกันภัย ของกรุงเทพประกันภัย 1 แผ่น
    -กระเป๋าพร้อมซอฟท์เคส อย่างละ 1 ใบ

    ส่วนของแถมที่เป็นของแถมจริงๆ ที่ผมได้รับจากทางร้านก็มี

    -แรม 2 Gb 667 1 แถว
    -เม้าส์สีแสบๆ ของ MD Tech
    -หูฟังของ Philips
    -ชุดทำความสะอาด

    ราคา: 20,900 บาท (Include Vat: 22,300 บาท)

    นั่น... คือของทุกอย่างที่ท่านจะได้รับกลับบ้าน (เมื่อจ่ายตังแล้วนะ) ส่วนของแถมจากทางร้านก็ต้องแล้วแต่หน้าตาและคารมในการเจรจา อันนี้ตัวใครตัวมันครับ




    เมื่อทราบข้อมูลจำเพาะของเครื่องรุ่นนี้กันเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป เรามาดูรายละเอียดของตัวเครื่องในด้านต่างๆ กันเลยครับ เริ่มกันที่...


    **วัสดุและดีไซน์**
    ตัวเครื่อง C035 Acer ดีไซน์ออกมาให้มีขนาดที่ดูภายนอกเล็กกะทัดรัด ซึ่งแว่บแรกผมก็เห็นแบบนั้นจริงๆ แต่เมื่อวางขนาดเทียบกับรุ่นอื่นจะทราบว่ามันก็ไม่ได้เล็กกว่าเครื่องรุ่นอื่นแต่อย่างใด งานออกแบบโดยรวมยังไม่แตกต่างจากโมเดลเก่า (รุ่นแป้นขาว) มากนัก แต่เท่าที่ทราบมา มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายภายในอย่างที่ถูกย้ายที่ทางเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนที่ดีขึ้น (เค้าว่ามาอ่ะนะ)





    ฝาบนของเครื่องเป็นวัสดุประเภทพลาสติก ขัดผิวเรียบ+มัน ตรงกลางของฝามีโลโก้ Acer นูนลึก ขอบเครื่องทุกด้านเรียบมน พื้นผิวมันวาวแบบนี้แม้จะทำทำให้ตัวเครื่องดูสวยหรู แต่ก็ต้องแลกมาด้วยคราบรอยนิ้วมือ ที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก...ก จับปุ๊บเป็นรอยกันทันที ต้องหมั่นเช็ดถูกันบ่อยซักนิด หากอยากให้เครื่องไม่เขรอะจนเกินไป





    ฝาเครื่อง สีดำ แต่ไม่ดำสนิท เพราะตรงบริเวณส่วนกลาง เป็นสีเหลือบน้ำเงินวาวเล็กน้อย ถ้ามีแสงส่องจะเห็นสีขึ้นมาอย่างชัดเจนมากขึ้น ดูเนื้องานโดยรวมแล้วนับว่าโอเค สวยใช้ได้อยู่เหมือนกัน





    เมื่อทำการเปิดเครื่องใช้งาน โลโก้ Acer ที่ฝาบน จะมีแสงสีขาวสว่างขึ้นมาตัดกับสีดำของฝาบนเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าตูข้าใช้ Acer ... ยิ่งดู ยิ่งเทห์ซะ ซึ่งแสงขาวที่ว่านี้จะสว่างตลอดเวลาไม่มีการดับ ยกเว้นเมื่อปิดฝาและ Stand By เครื่องเอาไว้ ไฟจะดับ แต่ไฟสถานะที่หน้าเครื่องจะกระพริบ





    ความสูง (หนา) ของตัวเครื่อง เมื่อปิดฝา มีขนาดประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ขอบสันของเครื่องโค้งมนทุกด้าน และด้วยความที่ฝาเครื่องเป็นวัสดุมันวาว หากจับถือไม่มั่นคง หรือหยิบออกมาขณะมีเหงื่อชุ่มๆ ตัวเครื่องอาจจะลื่นหลุดมือจนต้องเจอกับฝันร้ายเอาได้ง่ายๆ ผมถือกระป๋องโค้กมือเปียกหน่อยๆ แล้วเอื้อมมาหยิบออกจากกระเป๋า ... ลื่นปรื๊ด !! ... เกือบเน่าไปเหมือนกัน





    จอภาพ ขนาดมาตรฐาน 14.1 นิ้ว ความละเอียด 1280*800 Pixel ชนิดจอกระจก และขอบจอก็มันวาวเหมือนกระจกด้วย ถ้าใช้ในที่แสงน้อย ภาพจะแจ่มดีมากๆ แต่ถ้าใช้กลางแจ้ง หรือมีวัตถุที่สว่างๆ อยู่บริเวณนั้น เช่น หลอดไฟหรือแสงจากหน้าต่างห้อง ก็จะต้องเจอปัญหาแสงสะท้อนเหมือนจอกระจกทั่วไปน่ะแหละ (ไม่มี C-PL ถ่ายแล้วคอยจะเห็นเงาตัวเองวุ้ย)





    จอภาพไม่บางและไม่หนา สามารถกางจอออกว้างสุดได้ประมาณ 140 องศา และกลไกล๊อกฝาเครื่องยังใช้ระบบ “เขี้ยว” ล๊อกกับตัวเครื่องอยู่เหมือนเดิม เวลาเปิดใช้งานจอจะอุ่นๆ นิดหน่อย





    ขอบจอภาพด้านบน ติดตั้งกล้อง Webcam เหมือนโน้ตบุคทั่วไป กล้องที่ใช้เป็นแบบฝังตายตัว หมุนปรับองศาไม่ได้ พร้อมสติ๊กเกอร์บรรยายสรรพคุณของกล้องแปะไว้ที่ด้านขวา





    แป้นพิมพ์ (Key Board) มาตรฐาน ดีไซน์โดยรวมยังไม่ต่างจากรุ่นแป้นขาวเท่าไหร่... สีของเพลทรองมือ และปุ่มทั้งหมดที่ใช้สีดำ แก้ปัญหาปุ่มเขรอะและเพลทเหลืองในรุ่นก่อนหน้านี้ได้เป็นอย่างดี ไฟเรืองแสงแสดงสถานะต่างๆ เป็นสีฟ้า สีสันสวยงาม ยิ่งดู ยิ่งหรูเกินราคา ถือว่าปรับปรุงจากรุ่นก่อนหน้านี้ได้ดีขึ้น





    เพลทรองมือ เป็นพลาสติก พ่นผิวทราย สีดำเทา ด้านขวามือแปะสติ๊กเกอร์ชื่อรุ่น แสดงคุณสมบัติเด่น และรายละเอียดเบื้องต้นเช่นเดียวกันเครื่องทั่วไป ตำแหน่งของจุดสแกนลายนิ้วมืออยู่ตรงกึ่งกลาง Touch Pad ซึ่งตรงนี้เท่าที่ลองใช้งานพบว่า “เกะกะ” เป็นอย่างยิ่ง น่าจะไว้ทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งเหมือนเครื่องของอีกค่ายนึงเค้านะ





    ด้านขวาสุดของเพลท เป็นที่อยู่ของปุ่มฟังก์ชั่นในการเชื่อมต่อ ได้แก่ Wi-Fi, Bluetooth, E Mail, และ ปุ่มใช้งาน IE ไฟแสดงสถานะของทุกปุ่มเป็นสีฟ้า ลองใช้งานแล้วเข้าท่าดี ดูง่าย ใช้ง่าย ไม่มีต๊อง





    ด้านบนของแผงปุ่ม เป็นที่อยู่ของปุ่มเมนูลัดเข้าสู่โปรแกรม E empowering และลำโพงตัวเครื่องเป็นแนวยาว แปะโลโก้ของ Dolby อีกต่างหาก แต่เสียงที่ได้ยังไม่ค่อยจะ Dolby เท่าไหร่ ออกแนว Buby (บู้บี้) ซะมากกว่า... ด้านบนขึ้นไปอีก เป็น Led แสดงสถานการณ์การทำงานของเครื่อง ซึ่งใช้ไฟสีฟ้าตามเคย





    ส่วนทางด้านขวา เป็นที่อยู่ของชุดควบคุมการเล่นไฟล์มีเดียต่างๆผ่านโปรแกรม Windows Media ชุดปุ่มนี้เป็นระบบสัมผัส ใช้งานง่ายดีมากๆ แตะปุ๊บ ติดปั๊บ... แต่น่าจะดีไซน์ให้ดีกว่านี้อีกซักหน่อยจะแจ๋วขึ้นอีกโข (อยากให้เป็นปุ่มกลมเหมือนปุ่มเปิดเครื่องมากกว่า)


    ลองมาดู Port ต่างๆที่ Acer ให้มาในเครื่องรุ่นนี้กันบ้าง...





    ด้านซ้ายของตัวเครื่อง มี Port หลักๆเรียงกันอยู่ตามนี้ (ขวาไปซ้าย) ปุ่ม Volume แบบมือหมุน สั่งงานผ่าน OS ถัดมาก็เป็น Port ของระบบเสียง ได้แก่ แจ๊กหูฟัง(ลำโพง), ไมค์, เสียงขาเข้า ถัดมาเป็นช่อง USB 2.0 จำนวน 2 ช่อง ถัดมาอีกหน่อยเป็น Port HDMI ใครเป็นคอหนังไฮ-เดฟ คงถูกใจ แต่น่าเสียดายที่อ่าน Blue-Ray ไม่ได้ .. ส่วนขอบด้านบนติดกับ Port ระบบเสียง ก็เป็นช่อง Express Card





    เรื่อยมาทางซ้าย จะจ๊ะเอ๋กับ Port 15 Pin D-Sub สำหรับต่อกับจอภายนอก ข้างๆกันเป็น Port Gigabit LAN ติดกันเป็น Port Acer Easy Port IV (มันใช้กับอะไรหว่า?) ซึ่งพอร์ททั้งหมด ไม่มีฝาปิดหรือจุกยางกันฝุ่นมาให้แต่อย่างใดจ้ะ (ขี้เหนียวจัง) … ต่อไปลองก้มมาดูทางขวาของเครื่องกันบ้าง





    ด้านขวาของเครื่อง (ไล่จากขวาไปซ้าย) ก็มี ช่องสำหรับเสียบ AC/DC Adaptor แบบหัวกลม สามารถใช้ร่วมกับรุ่นอื่นของ Acer ได้ ติดๆกันเป็น Port USB2.0 อีกอัน เหมาะไว้สำหรับเสียบเม้าส์ หรืออุปกรณ์อื่นใดตามถนัด ข้างๆกันเป็นช่องสำหรับเสียบสายโทรศัพท์พื้นฐานเพื่อใช้งาน Modem 56K และที่เหลือ เป็นที่อยู่ของ Drive DVD เหมือนเครื่องปกติทั่วไป ยังไม่ดีไซน์อะไรที่มันหลุดโลกจากชาวบ้านเค้า





    มาที่ด้านหน้ากันมั่ง ด้านหน้านอกจากสวิทช์ปลดล๊อกฝาเครื่องแล้ว ก็มี Port Infrared สำหรับใครที่ชอบใช้รีโมท หรืออุปกรณ์อินฟาเรดอื่นๆ ก็ไม่เป็นปัญหา ... ข้างๆกันเป็น Card Reader สำหรับอ่านการ์ดความจำชนิดต่างๆได้หมด ยกเว้น CF, micro-SD, Mini-SD, SM, XD (ไอ้ที่อ่านไม่ได้ จะเยอะกว่าที่อ่านได้อีกนะ) ด้านบนก็เป็น LED แสดงสถานะเปิดเครื่อง และแบตเตอรี่





    ด้านหลัง โล่งโจ้ง ไม่มีอะไรเลยนอกจากตะแกรงระบายความร้อน ที่เหลือบเห็น Heat-Pipe กับ Fin จำนวนนึงนอนขดอยู่ภายใน เวลาใช้งานเครื่องจะเป่าลมร้อนออกทางด้านหลัง... อื่มมม.. เข้าท่าดีเหมือนกัน


    คราวนี้พลิกดูใต้ท้องกันซักหน่อย





    ใต้ท้องเครื่องแบ่งฝาปิดต่างๆแยกออกจากกันอย่างชัดเจน อุปกรณ์นึงก็ฝานึงไปเลย ใครคันไม้คันมือจะได้ “แงะ” กันได้ถนัดๆ ซึ่งหลักๆก็มี ฝาปิดการ์ด Wi-Fi อันเล็กๆ ทางด้านล่างซ้าย ... ติดๆกันที่เห็นเป็นฝาทึบนั่นก็ HDD ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ Acer แจ้งมาว่าอย่าไปยุ่งกับมันถ้าไม่อยากหมดประกัน ... ตรงกลางเครื่องที่มีตะแกรงเล็กๆนั่นเป็นฝาปิดช่องเสียบแรม ซึ่ง เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกว่า “แกะด้ายยยย พี่” ใครอยากอัพเท่าไหร่ก็อัพไปเพราะตรงนี้ Void หลุดก็ไม่หมดประกัน แต่ถ้าจะยกไปเคลม ก็เอาแรมเดิมเสียบกลับไปด้วยละกันเน่อ... ช่องยาวๆทางด้านบนเป็นแบตเตอรี่ และมุมขวาบน เป็นตะแกรงพัดลม Blower ไม่อยากให้เครื่องเกรียม ก็อย่าเอาอะไรไปขวางทางมันละกันนะ






    แบตเตอรี่ที่ใช้ มีขนาด 4400 มิลลิแอมป์ ตัวแบตฯ เป็นแบบฝังยึดกับใต้เครื่อง สามารถถอดออกแล้วใช้งานได้โดยไม่โหว่จนน่าเกลียด... ระบบล๊อกแบตฯ เป็นแบบเลื่อน 2 จุด คือ ปุ่มเลื่อนปลดล๊อก และปุ่มเลื่อนปลดตัวแบตฯ เท่าที่ลองก็ใช้งานได้ดีไม่มีเจ๊งง่ายเหมือนดีไซน์เก่าๆ (แบบดันเข้าหากัน) ที่เขี้ยวล๊อกมักจะเน่าก่อนเวลาอันควรเสมอ...
    .
    .
    .

    --จบเรื่องดีไซน์ตัวเครื่องทั้งหมดไปแล้ว คราวต่อไปลองมาดูความสามารถด้านต่างๆ ของเจ้า C035 ตัวนี้กัน ว่าคะแนนเทสต่างๆ มันจะเจ๋ง หรือจะเจ๊งจนน่าเกลียด--.
    .
    .
    .
    ลงโปรแกรม..แล้ว TEST!
    สำหรับ OS ที่ใช้ ผมเลือกใช้ Win XP SP2 ลิขสิทธิ์ แล้วอัพเดทเป็น SP3 ผ่าน Windows Update เหตุที่ใช้ XP เพราะเครื่องนี้ผมต้องใช้งานกับโปรแกรมที่รองรับเฉพาะ XP เท่านั้น และ ผมไม่มี Vista ลิขสิทธิ์... 555+ สำหรับ C035 เครื่องนี้ ทาง Acer ได้แถมแผ่น Driver อุปกรณ์ต่างๆมาให้ด้วย แต่แผ่น Driver ที่แถมมาเป็นเวอร์ชั่น Vista เท่านั้น (กรรม) ซึ่งถ้าใครจะลง XP ต้องออกแรงไปโหลด Driver เอาเองที่เวปไซต์ของ Acer ซึ่งมี Driver ให้โหลดครบทุกตัว.... (ก็ยังดีวุ้ย)

    เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรามาดูคุณสมบัติต่างๆของเครื่องกันดีกว่า...





    CPU Z และ GPU Z โปรแกรมสามัญประจำเครื่องที่ทุกคนมี อ่านค่าได้ไม่ผิดพลาด ความเร็วก็ตามสเปก ( CPU Z แสดง NAME ของ CPU เป็น P7350 แต่แสดง Spec เป็น T6400) ลองมาดูด้วย Everest กันมั่งซิ...






    Everest 5.0 ก็แสดงรายละเอียดต่างๆ ได้ครบถ้วนเช่นกัน สำหรับผลเทสของแรมเดิมๆ จากโรงงาน (Samsung 1 GB แถวเดียวนะจ๊ะ Apacer ไม่เกี่ยว) ก็ออกมาได้ตามปกติ ไม่หวือหวา ไม่ช้าเต่าคลาน ต่อไปลองมาเทส HDD กันมั่งดีกว่า...





    ผลเทสของ HDD ผ่านโปรแกรม HD Tune ก็ตามภาพครับ อืดได้ใจเหมือนกัน... อันดับต่อไป ลองมาดูความสามารถของ T6400 กันมั่ง ว่ามันจะมีเรี่ยวแรงมากน้อยขนาดไหน





    Super PI ที่ 1 เมก ได้ที่ 28 วินาทีกว่าๆ ... ก็ ... โออยู่อ่ะนะ มันก็แรงเท่าที่จ่ายไปนี่เนาะ -_-


    และอันดับสุดท้ายที่จะลองกัน จะขาดอะไรไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่การทดสอบความสามารถด้านกราฟฟิก ถึงแม้เครื่องนี้มันจะไม่ได้มีการ์ดจอแยก ไม่ได้เน้นเอามาเล่นเกมส์ก็ตาม... (เตรียมใจรับสภาพของคะแนนไว้ละ)





    โปรแกรมเก่าๆอย่าง AquaMark ปั่นคะแนนได้เท่าที่เห็น .... ไม่ถึงหมื่นห้า ! นั่งดูยานยิงกันพักใหญ่เลย กว่าจะเสร็จ...





    ส่วนอันนี้ก็ 3Dmark06 (ผมขอเทสแค่ 06 ละกันนะ) ปั่นคะแนนออกมาแบบสุดเหยียด ได้ 6 ร้อยกว่าๆ ...
    ผมว่ามันไม่เหมาะกับการเอามาเล่นเกมส์โหดๆจริงๆอ่ะแหละครับ....



    ทดลองใช้งานและอุณหภูมิเครื่อง
    เมื่อซื้อเครื่องมาใช้ทำงาน ก็ต้องเอามาลองทำงานซักอย่างหนึ่งบ้าง ในการทดสอบนี้ ผมจะทดสอบโดยใช้ โปรแกรม Nero Vision 7 แปลงไฟล์ Mpeg จากแผ่น VCD 4 แผ่น ให้เป็นไฟล์ VOB สำหรับ DVD แผ่นเดียว โดยจะสร้างเป็นอิมเมจไฟล์เท่านั้น ไม่ได้เขียนลงแผ่นแต่อย่างใด …






    และในการทดสอบผมจะทดสอบเปรียบเทียบเวลาที่ใช้ทั้งหมด กับเครื่อง DeskTop (แก่ๆ) ที่ผมใช้อยู่ที่บ้าน (E6750@3.2 , RAM 4 Gb, RAID0) โดยไฟล์และโปรแกรมที่ใช้ทั้งหมด เหมือนกันทุกประการ ...

    ได้ผลของเวลาที่ใช้งานในแต่ละเครื่อง ตามนี้ครับ....





    T6400 ช้ากว่า E6750 (OC นิดๆ) อยู่พอสมควรครับ ประมาณ 10 กว่านาที... โอ้ว มายก๊อด.!



    และอันดับสุดท้าย ที่ผมจะทดสอบก็คือเรื่องของ อุณหภูมิในสภาวะการใช้งานจริง โดยผมจะทดสอบอุณหภูมิของ CPU และ HDD ด้วยโปรแกรม Everest ที่อุณหภูมิห้องปกติ ไม่เปิดแอร์ วางเครื่องบนโต๊ะธรรมดา ไม่มีแท่นพัดลมหรือหนุนเครื่องให้ลมโกรกอะไรทั้งนั้น เปิดโหมด Maximum Performance ตลอด






    ใช้เวลาทดสอบ CPU ครึ่งชั่วโมง และ HDD 1 ชั่วโมง โดยแบ่งผลออกเป็นอุณหภูมิปกติและอุณหภูมิสะสมสูงสุดที่จับได้...
    ได้ผลตามนี้ครับ ...





    CPU T6400 ต่ำสุดประมาณ 40 กลางๆ และวิ่งไปสูงสุดที่ 60 ไม่เกินนี้ ซึ่งจะว่าร้อนก็ไม่ใช่ แต่จะว่าเย็น ก็ไม่เชิง สำหรับ CPU แบบ Mobile เช่นนี้.... สังเกตได้อย่างหนึ่งว่า เมื่อ CPU มีอุณหภูมิต่ำว่า 50 พัดลมโบลว์เวอร์ใต้เครื่องจะไม่หมุน (เพื่อประหยัดพลังงานละมั้ง) และเมื่ออุณหภูมิวิ่งเกิน 50 เมื่อไหร่ พัดลมจึงจะเริ่มหมุน (อ่อยๆ) จนเมื่อวิ่งไปที่ 55-58 พัดลมจะหมุนเต็มที่ แต่ไอ้ที่ว่าเต็มที่เนี่ย ลมไม่ได้ออกมาพุ่งพรวดพราดแต่อย่างใด เสียงก็แทบจะไม่มีให้ได้ยินกันเลยทีเดียว… ดีจริงๆ ให้ตายเหอะ (ไหนบอกว่าเล็กลงจะเย็นลงนิ)





    สำหรับอุณหภูมิของ HDD ผมว่ามีระยะระหว่างช่วงปกติกับช่วงพีคสุด มากพอสมควร อาจเป็นเพราะฝาปิดไม่ได้มีการเจาะตะแกรงให้ลมสามารถเข้าไประบายความร้อนสะสมได้ บวกกับส่วนที่ติดตั้ง HDD เป็นส่วนที่อยู่ค่อนมาทางด้านหน้า ซึ่ง เป็นส่วนที่แทบจะติดกับพื้นโต๊ะ จึงไม่มีช่องว่างพอให้ลมจะเข้าไประบายความร้อนได้เลย ...



    เหนื่อยละ ... สรุปกันเลยดีกว่า



    -วัสดุ/งานประกอบ-
    เป็นเรื่องที่ใครหลายๆคนสงสัยและถามเสมอๆว่าโน้ตบุคจากไต้หวันแบรนด์นี้ ตัวเครื่องมันจะ ”เนียน” เท่ากับผู้ผลิตรายอื่นหรือเปล่า ซึ่งเมื่อเทียบกับเครื่องอื่นๆ ของ บ.ผม ที่มีทั้ง ASUS, Dell, VAIO, HP, Fujitsu (เมพขิงๆ ทั้งนั้น) บอกได้เลยว่า “สู้ไม่ได้” แต่ไม่ได้กะหลั่วแบบของก๊อบจากดินแดนอาซิ้มหรอกนะ เพราะมันก็สามารถที่จะเนี๊ยบได้เท่าที่เราจ่ายไปนั่นแหละ... เรื่องความละเอียดในการประกอบ ผมให้ผ่าน ไม่มีส่วนใดที่ผิดรูปร่างจนออกนอกหน้า รอยต่อทุกรอย เข้ากันอย่างสนิทดี ไม่มีตรงไหนกอบแกบยวบยาบจนใจแป้ว...
    ...จะมีติก็ตรงที่วัสดุที่เลือกใช้ มันดูพลาสตี๊กกกก..พลาสติก และดีไซน์ที่มันจะสวยสู้ชาวบ้านเค้าไม่ค่อยได้ เท่านั้นเอง...


    -คุณสมบัติและประสิทธิภาพ-
    อันนี้ผมให้ผ่านฉลุย... Aspire 4930 C035 ตัวนี้ สามารถรองรับงานที่ผมต้องใช้มันจริงๆได้เป็นอย่างดี ช่วยลดเวลาในการ Process งานแต่ละขั้นตอนลงไปได้เยอะ (เคยเอา VAIO สเปก Core Solo ของ บ. มาใช้... แทบกรี๊ดแตก) พื้นที่ HDD แม้ไม่ใหญ่มากแต่ก็ยังมีขนาดที่พอใช้งานโดยไม่ต้องแกะเปลี่ยนให้หมดประกัน ติดที่แรมเดิมๆ ให้มาจำกัดจำเขี่ยไปหน่อย แบตเตอรี่ก็อยู่ได้ค่อนข้างนาน (เมื่อเปิดโหมด Maximum Battery นะ) ช่วยให้ผมสามารถทำงานได้นานเกิน 3 ชม. โดยไม่ต้องถามหา “ปลั๊กไฟ” ให้เสียอารมณ์ศิลปิน...
    ...เครื่องมือหนึ่งแกะกล่อง จ่ายไปเท่านี้ ได้มาเท่านี้ ผมโอเคนะ...


    -แล้วเครื่องนี้เหมาะกับใครกันละหวา?-
    Aspire 4930 C035 เครื่องนี้ คงไม่เหมาะกับคอเกมส์ขาโหดชนิดที่ต้องลื่นและสุดอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าจะเอามาเล่นเกมส์ ก็คงเข็นได้แค่เกมส์ออนไลน์ หรือไม่ก็ยิงไข่เป็ดไข่ไก่อะไรประมาณนั้น ถ้าใครสนใจจะซื้อ ก็อย่ามาบ่นทีหลังว่าทำไมเล่นเกมส์แล้วมันกระตุก แต่... ถ้าใครหลายๆ คนที่มีงบไม่เยอะ เบี้ยน้อยหอยเล็ก และต้องการเครื่องที่มีเรี่ยวแรงพอตัวไว้เพื่อทำงานจริงๆ อาจจะมีเอ็นเตอร์เทนร่วมด้วย โดยไม่เน้นว่าควักมาแล้วเครื่องจะต้องหรูเริ่ดจนสาวร้องกรี๊ด เหมือนพวกเครื่อง Limited Edition ต่างๆ … ผมว่า Acer Aspire 4930 C035 ตัวนี้ เหมาะกับคุณแล้วล่ะครับ… Gidd Confirm!




    คะแนนเฉลี่ยด้านต่างๆ เทียบกับ Notebook ยี่ห้ออื่นในระดับราคา 22000 ... ผมให้ตามนี้

    Build Quality : 7......ประกอบเรียบร้อยดี แต่วัสดุยังสู้ชาวบ้านเค้าไม่ได้
    Performance : 8.5......รวดเร็วทันใจไม่มีตกหล่น แต่เครื่องเดิมๆงกแรมไปนี๊ด
    Game : 4......เกมส์ออนไลน์หรือเกมส์เล็กๆ สบาย แต่เกมส์ใหญ่ๆ หืดจับ
    Entertainment : 7......จอใส, มี HDMI, เสียงหูฟังเยี่ยม แต่เสียงลำโพงยังเหวอๆ
    Mobility : 7.5......จัดการพลังงานได้ดี แบตใช้ได้นาน การเชื่อมต่อครบครัน
    Value : 9......คุ้มค่า เหมาะกับผู้เริ่มต้น หรือผู้ที่มี PC แรงๆ เป็นเครื่องหลักอยู่แล้ว



    จบกันไปเรียบร้อย สำหรับ Acer 4930 641G25Mn C035 ตัวนี้
    แล้วพบกันใหม่คราวหน้า ส่วนจะเป็นอุปกรณ์อะไร ... คอยติดตามครับ
    Last edited by gidd009; 28 Mar 2009, 08:36:08.

  • #2
    แจ่มเลยครับ ฝาหน้าสวยดี มีไฟเวลาใช้งานด้วย สวยมากครับ

    Spec ก็ดี ราคาก็คุ้มเลย

    Comment


    • #3
      สวยครับน่าใช้มากว่าจะเปลี่ยนอยู่เหมือนกัน

      Comment


      • #4
        Review เยี่ยมเหมือนเคย

        Comment


        • #5
          เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ

          รีวิวนี้คงไม่สมบูรณ์แบบอะไรแน่นอน ใครมีอะไรที่จะ "ติ" เชิญใส่มาได้เต็มที่เลยครับ

          ผมซาดิส์ม ชอบโดนจวก คราวหน้าจะได้รีวิวได้ดีขึ้น

          Comment


          • #6
            เก่งครับ ยอมรับเลย

            Comment


            • #7
              เกิดมาเพื่อยิงไข่

              Comment


              • #8
                Originally posted by gidd009 View Post


                เมื่อทำการเปิดเครื่องใช้งาน โลโก้ Acer ที่ฝาบน จะมีแสงสีขาวสว่างขึ้นมาตัดกับสีดำของฝาบนเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าตูข้าใช้ Acer ... ยิ่งดู ยิ่งเทห์ซะ ซึ่งแสงขาวที่ว่านี้จะสว่างตลอดเวลาไม่มีการดับ ยกเว้นเมื่อปิดฝาและ Stand By เครื่องเอาไว้ ไฟจะดับ แต่ไฟสถานะที่หน้าเครื่องจะกระพริบ
                ถึงว่า ตอนลูกค้าเอามาให้ลงวินโดว์ก็งง ๆ ทำไมตรงโลโก้มันสว่าง ๆ หว่า

                Comment


                • #9
                  เท่ตรงที่โลโก้มันสว่างนี่แหละ อิอิ

                  Comment


                  • #10
                    รีวิว แจ่มมากครับ สวยด้วยๆๆ

                    Comment


                    • #11
                      แจ่มครับ




                      ใครว่างๆ ก็เอา AlienWare M17 มารีวิวบ้างนะครับ














                      กวนทีนล่ะกรุใครจะบ้าไปซื้อ




                      Comment

                      Working...
                      X