Announcement

Collapse
No announcement yet.

คลับเครื่องเสียง Sherwood หรือเครื่องเสียงเก่าๆแก่ๆ มาอยู่ด้วยกัน

Collapse
X
 
  • Filter
  • Time
  • Show
Clear All
new posts

  • #16
    dun ครับ อยากเทส sherwood

    Comment


    • #17
      ซันซุย...หายไปไหน

      Comment


      • #18
        Originally posted by aketoom View Post
        dun ครับ อยากเทส sherwood
        อยากเห็นหน้าตาเหมือนกัน

        Originally posted by tiger X-fi View Post
        ซันซุย...หายไปไหน
        อิอิ ตั้งเองเลย

        Comment


        • #19
          Originally posted by rungrod View Post
          ได้ครับ คงเก่าๆพอๆกัน
          ์NAD3020 โมเดลที่ออกมาใหม่สุดก็ยังเก่ามากเลย แต่ผมก็ใช้อยู่ตัวนึงในห้องนอน


          NAD 3020 อินติเกรตเตด แอมป์ เขย่าโลก จากนิตยสาร LE โดยคุณอธิวัฒน์

          หนังสือ เครื่องเสียงเก่าแก่และทรงอิทธิพลที่สุดในเกาะอังกฤษ เพิ่งประกาศรางวัล Hi-Fi that Rocked the World หรือ เครื่องเสียงเขย่าโลก ที่จัดอันดับเครื่องเสียงและลำโพงที่มีอิทธิพลสูงสุดของวงการไฮ-ไฟออกมา ซึ่งเครื่องที่ได้รางวัลเป็นอันดับ 2 คือ NAD 3020 (อันดับหนึ่งเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง รุ่นเก๋า ที่เฉือนไปเพราะมีการผลิตที่ยาวนานกว่า)

          หนังสือ The Absolute Sound เคยจัดอันดับเครื่องเสียงที่มีอิทธิพลและยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของวงการไป เมื่อไม่นานนี้ ซึ่ง NAD 3020 เครื่องนี้ก็ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย

          ผม ชอบที่ The Absolute Sound ว่าไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “ความดังของ NAD 3020 นั้น ดังขนาดคนที่มีเครื่องระดับซูเปอร์ ไฮ-เอ็นด์ ราคาแพงสุดๆ อยู่แล้ว ก็ยังอดไม่ได้ที่ต้องไปซื้อ NAD 3020 มาเพื่อฟังให้มันรู้ไปว่าดีขนาดไหน”

          ผมเคยถามคุณลานทิพย์ ทวาทศิน ว่า ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทโคไน้ซ์ มา เครื่องรุ่นไหนที่ขายดีที่สุด คำตอบก็คือ “NAD 3020”

          และเมื่อถามว่า เครื่องรุ่นไหนที่ทำให้โคไน้ซ์ มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นได้จนถึง 30 ปี ขนาดนี้ คำตอบก็คือ “NAD 3020”

          อะไรทำให้เครื่องเสียงที่สุดแสนจะธรรมดาเครื่องนี้ มีอิทธิพล และความยิ่งใหญ่ได้มากขนาดนี้

          ย้อน กลับไปดูปีค.ศ. 1981 ยุครุ่งเรืองแห่งวงการเครื่องเสียง ยุคสมัยที่การเล่นเครื่องเสียง เป็นสิ่งที่อยู่ในความฝันของผู้ชายเกือบทุกคน เครื่องเสียงในยุคนั้นเป็นยุคที่ระบบทรานซิสเตอร์กำลังเป็นใหญ่ เสียงสเตรีโอ 2-แชนเนล คือสิ่งที่ดีที่สุด เครื่องเล่นแผ่นเสียงไวนีล คือ แหล่งโพรแกรมคุณภาพสูงที่สุด เครื่องเล่นเทปคาสเสทท์ เด็ค คือแหล่งโพรแกรมของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย และจูนเนอร์แบบแสดงตัวเลขดิจิทัล ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากๆ สำหรับคนในยุคนั้น

          สมัยนั้น เครื่องเสียงแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มมิด-เอ็นด์ และไฮ-เอ็นด์ ไม่มีเครื่องจีนแดง ไม่มีเครื่องโฮม เธียเตอร์ ไม่มีเครื่อง MP3 ขนาดจิ๋ว ลักษณะการเล่นของผู้คนยุคนั้น หากเป็นไฮ-เอ็นด์ ก็หมายถึงคนที่เล่นเครื่องอเมริกัน ยี่ห้อดังๆ เล่นปรี/เพาเวอร์แยกชิ้น เครื่องใหญ่ๆ ใช้เทอร์นเทเบิลราคาแพง และลำโพงขนาดยักษ์ใหญ่ ส่วนใครที่ไม่ได้เล่นไฮ-เอ็นด์ สิ่งที่จะเล่นก็ก็คือเครื่องระดับกลางๆ จากญี่ปุ่น ที่นิยมก็เป็นเครื่องจำพวกรีซีฟเวอร์ บวกลำโพงตู้เปิดตู้ใหญ่ สาม-ทาง สี่-ทาง วูฟเฟอร์ 10 นิ้ว 12 นิ้ว ฟังจากเครื่องแบบ Rack System อยู่ในแร็ค มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่ข้างบนตู้ ลำโพงก็วางไว้กับพื้น ชิดผนัง หรือไม่ก็วางไว้ในตู้ หรือบนหิ้ง (หิ้งจริงๆ แบบหิ้งพระ)

          นัก เล่นเครื่องเสียงยุคนั้น หากจะนับไปต้องเรียกว่าน้อยกว่ายุคนี้มาก เพราะนักเล่นในที่นี้ ผมเรียกว่าเป็นนักเล่นจริงๆ คือเล่นเครื่องเสียง แบบเอาจริงเอาจังกับการเซ็ท-อัพ การปรับแต่ง จัดวางลำโพง การเลือกระบบและเลือกที่จะได้ “คุณภาพเสียง” กันจริงๆ จังๆ

          หรือเรา จะเรียกว่า คนยุคนั้น โอกาสที่จะมาเป็นนักเล่นแบบเอาจริงเอาจังแบบปัจจุบันนั้น ยากมาก เพราะเครื่องเสียงส่วนใหญ่จะมีราคาแพง หากเป็นเครื่องราคาถูก ก็มักจะไม่สามารถให้คุณภาพเสียงที่ดีได้เลย ที่เป็นเครื่องราคาถูกๆ หน่อย ก็ไม่สามารถให้เสียงที่ดีได้เป็นเรื่องเป็นราว คนที่อยากได้ความเป็นนักเล่นกันจริงๆ จึงแทบไม่มีโอกาส

          จนกระทั่งมีแอมป์ ตัวเล็กๆ ตัวนี้ออกมานั่นแหละ ที่ทำให้หลายคนผันตัวเองกลายมาเป็นนักเล่นที่จริงจังกันได้ในเวลาต่อมา

          NAD 3020 เป็นอินติเกรตเตด แอมป์ ที่ออกมาจากผู้ผลิตที่มีชื่อเรียกกันเต็มๆ ว่า New Acoustic Dimension บริษัทผลิตเครื่องเสียงที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์หลักในตอนแรกคือ ทำ “แอมป์” ดีๆ ออกมา เนื่องจากกลุ่มผู้บริหาร NAD ในตอนนั้น เป็นการรวมตัวกันของตัวแทนจำหน่าย ลำโพง Acoustic Research หรือ AR ในช่วงนั้น ซึ่งทุกคนพบว่าลำโพง AR เป็นลำโพงที่ “กินแอมป์” มาก เนื่องจากเป็นลำโพงที่มีค่าความต้านทานต่ำกว่าลำโพงทั่วๆ ไปในยุคนั้นคือ 4 โอห์ม ซึ่งแอมป์ยุคนั้นส่วนใหญ่ยังขาดประสิทธิภาพในการขับลำโพงที่มีค่าความต้าน ทานต่ำๆ มิหนำซ้ำ AR ยังเป็นลำโพงแบบตู้ปิด (Acoustic Suspension) ซึ่งก็ต้องอาศัยกำลังขับจากแอมป์มากกว่าปกติอยู่แล้ว

          ซึ่งก็เลยทำให้ แอมป์ในยุคนั้น หากไม่ใช่แอมป์คุณภาพสูงจริงๆ แล้ว มักจะขับลำโพง AR ไม่ออก (โดยเฉพาะแอมป์ญี่ปุ่น) แม้ยุคนั้นจะเป็นยุคที่มีการแข่งขันอวดโอ่ เรื่องกำลังขับกันอย่างมากมายมหาศาล เครื่องรีซีฟเวอร์ญี่ปุ่นยุคนั้น กำลังขับต่ำๆ ก็คุยกันที่ 100 – 150 วัตต์ กันแล้ว แต่ก็แปลกที่แม้จะโอ่กำลังขับกันมากมาย แต่แอมป์เหล่านี้กลับไม่สามารถขับลำโพงดีๆ อย่าง AR ให้ออกมาดีสมใจได้ ซึ่งก็ทำให้ลูกค้าจำนวนมาก ไม่สามารถได้ประสิทธิภาพที่เต็มที่ (หากงบประมาณจำกัด)

          เมื่อหาแอมป์ดีๆ ได้ยากเต็มทน ก็สู้ผลิตแอมป์ดีๆ ออกมาขายเองเลยไม่ดีกว่าหรือ ทีมผู้ก่อตั้งก็เลยไปพบวิศวกรหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ Bjorn Erik Edvardsen คนหนุ่มไฟแรง ที่มีรูปแบบการออกแบบแอมป์ที่เก่งกาจ เขาออกแบบแอมป์แบบ Hi-Current เอาไว้ตัวหนึ่ง ซึ่งเมื่อเอามาขับกับลำโพง AR แล้ว ทุกคนก็พบว่า กำลังสำรองและประสิทธิภาพของแอมป์เครื่องนั้น ดีมาก ดีพอที่จะทำให้ลำโพง AR เปล่งประกายออกมาได้เต็มที่อย่าง
          น่าทึ่ง และที่สำคัญคือมันทำออกมาขายได้โดยที่มีราคาซึ่งไม่แพงอะไรเลย

          และ นั่นคือกำเนิดของ NAD แม้แอมป์เครื่องแรกนั้นจะไม่ใช่ NAD 3020 แต่มันก็เป็นการเปิดหน้าใหม่แห่งวงการเครื่องเสียง ในการสร้างแอมป์คุณภาพสูงในราคาที่ไม่แพง เพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา NAD 3020 ก็ถือกำเนิดขึ้นมาในที่สุด

          NAD 3020 นั้น ออกมาพร้อมกับความแปลกใหม่ ที่วงการเครื่องเสียงในยุคนั้นไม่เคยเห็น ไม่เคยพบเจอ และไม่คิดว่าจะมีใครกล้าทำออกมาก่อนหลายประการเช่น เครื่องยุคนั้น หากเป็นเครื่องราคากลางๆ ต้องเน้นหน้าตาเอาไว้ก่อน หลายคนคงจำได้กับเครื่องรีซีฟเวอร์ขนาดยักษ์ใหญ่ เครื่องหนาหนัก แผงหน้าสีเงิน มีเข็มVU แผงข้างประกบลายไม้แท้ ลุกบิดโวลูมขนาดใหญ่ หรือไม่ก็ต้องมีออกมาเป็นเครื่องที่บางๆ เน้นการควบคุมด้วยปุ่มกด แบบLogic Control (พร้อมคำโปรยในโฆษณา เช่น Computer Controlled Integrated Amplifier อะไรเช่นนี้ เป็นต้น) ลูกบิดโวลูมไม่มี แต่จะใช่โวลูมแบบสไลด์เลื่อนแทน (ซึ่งอีกไม่นานมันจะสะสมฝุ่นและส่งเสียงครอกแครกเวลาขยับโวลูม) นอกจากนั้น เครื่องก็ต้องมีไฟ LED สีเขียว สีแดง แพรวพราวไปหมด มันเป็นยุคอวกาศแห่งเครื่องเสียง ที่ไม่มีใครสนใจเรื่องคุณภาพเสียง นอกจากรูปร่างหน้าตา และชื่อเรียกวงจรแปลกๆ ที่เอามาสกรีนบนหน้าเครื่อง

          NAD 3020 รุ่นแรกออกมาสู่ตลาดด้วยความแปลกและแหวกแนว ทำออกมาเหมือนไม่อยากจะขาย และเหมือนไม่คิดว่าจะมีใครซื้อ มันเป็นเครื่องที่เล็กเอามากๆ เมื่อเทียบกับมาตรฐานเครื่องยุคนั้น หรือแม้แต่ในปัจจุบัน นอกจากเล็กแล้วยังเบา และสั้น รูปร่างหน้าตาดูไม่มีราคา (ก็ราคามันก็ไม่มีจริงๆ เพราะขายกันไม่ถึง 5,000.-บาท) แผงหน้าปัดเป็นพลาสติค สีออกเทาอมเขียวแบบทหาร ลูกบิดขนาดใหญ่ ทำจากพลาสติคที่แสนธรรมดา (อย่าเผลอดึงมันออกมาล่ะ มันจะหลุดติดมือ) ปุ่มกดเลือกฟังค์ชันเป็นแบบกลไกแสนจะธรรมดา (แต่ก็แข็งแรง และมั่นคงเหลือหลาย) เวลากด จะดัง พลั่กๆ พล้อกๆ เวลาเปิดเครื่องก็จะมีเสียงดัง “พึ่บ” ออกที่ลำโพงเป็นเครื่องที่ต่อแหล่งโพรแกรมได้ แค่ 4 ชุด คือ เครื่องเล่นแผ่นเสียง PHONO, AUX, TAPE และ TUNER มีโทน คอนโทรล ปรับทุ้ม/แหลม ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นแรกๆ ที่ให้การปรับทุ้ม/แหลมที่น้อยมากๆ เพราะไม่อยากให้ไปรบกวนโทนเสียงอื่นๆ มีปุ่มบิดบาลานซ์ นอกนั้นก็มีลูกเล่นพิเศษให้ออกมา อีกสองจุดคือ ปุ่ม Mono (เอาไว้เช็คว่าต่อลำโพงกลับเฟสหรือเปล่า) กับปุ่ม Loudness ไว้ยกทุ้มแหลมสำหรับเวลาฟังเบาๆ (แต่ส่วนใหญ่จะใช้ยกกันเพื่อความสะใจในเสียงเบสส์และแหลม)

          ด้าน หลัง ทำแบบขั้นบันได ขั้วต่อลำโพงเป็นแบบสปริงหนีบ ขั้วต่อ RCA จัดวางแนวนอน ง่ายต่อการเสียบ (ผมไม่เข้าใจว่าเครื่องรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร ทำไมไม่ค่อยทำแบบนี้อีก เพราะมันเสียบสายง่ายดีออก) มีสิ่งพิเศษที่เครื่องยุคนั้นไม่ค่อยมี ก็คือ ช่องปรี-เอาท์ / เมน-อิน ซึ่งสามารถเอามันไปใช้เป็นปรีแอมป์ หรือเพาเวอร์-แอมป์ ในภายหลังได้ (ซึ่งภาคปรีแอมป์ของNAD 3020 นั้น ดีและดัง ขนาดที่ถูกทำเป็น NAD 1020 แยกออกมาขายในภายหลัง) นอกจากนั้นยังมีวงจรพิเศษที่เรียกว่า Soft Clipping วงจรช่วยลดความเพี้ยนเวลาเล่นดังมากๆ ซึ่งยังคงใช้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน

          ภาย ในของ NAD 3020 นั้น ก็สุดแสนจะธรรมดา หม้อแปลง EI ลูกเล็กกว่าปรีแอมป์รุ่นใหม่ๆ เสียอีก ทรานซิสเตอร์แบบไบ-โพลาร์ ทรงจานบิน ซึ่งวันก่อนมีพนักงานน้องใหม่ฝ่ายช่างเห็นแล้วงง ว่ามันเก่าขนาดนั้นเลยหรือ Capacitor ขนาดเล็ก สายระโยงระยางพันกันระเกะระกะ

          อ้อ ภายนอกนั้น มีสีสันเอาไว้สู้ชาวบ้านเขาหน่อย คือ มีดวงไฟ LED อยู่ที่ตำแหน่งเหนือโวลูม อยู่ 5 ดวง ซึ่งจะคอยกระพริบตามความแรงของสัญญาณ (อย่างไม่ค่อยเต็มใจ) มาให้ด้วย (สุดยอดแสงสีของ NAD เลยนะนั่น)

          แต่พอเปิดเสียงขึ้นมาแล้ว ใครที่จะส่ายหน้าหนี ก็ต้องหันกลับมามอง และมอง และก็ต้องมีความทึ่งกันทุกคน

          เพราะสิ่งที่ทำให้ NAD 3020 กลายเป็นเครื่องอินติเกรตเต็ด แอมป์ ที่ฮิตระเบิด ขายดีเป็นเทน้ำทิ้งนั้น อยู่ที่เสียงของมันครับ

          ไม่ มีใครปฐิเสธ ว่า เสียงที่ได้จาก 3020 นั้น มันเป็นเสียงที่ดีจริงๆ ดีอย่างไม่มีใครคิดว่าแอมป์ราคา 5,000.-บาท จะให้อะไรออกมาได้ดีขนาดนี้ มันเป็นแอมป์เครื่องแรกจริงๆ ย้ำว่าจริงๆ ที่สร้างคำว่า “คุ้มค่าเกินราคา” ขึ้นมาในพจนานุกรมของวงการเครื่องเสียง เพราะสมัยนั้น ยังไม่เคยมีใครได้ฟังเครื่องเสียง แล้วต้องอุทานว่า “ไม่น่าเชื่อว่ามันจะมีราคาขายแค่นี้เอง” มาก่อนเลย นอกจากนั้น ผมกล้าบอกเลยว่า นี่เป็นแอมป์เครื่องแรกจริงๆ ที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจในเรื่องคุณภาพเสียงอย่างจริงๆ จัง ทำให้คนเริ่มเข้าใจและทราบกันว่า “ของดีราคาถูกนั้นมีจริง”

          และทำให้คนที่เคย “อยาก” จะเป็นนักเล่น ได้กลายเป็นนักเล่นกันจริงๆ เสียที

          เพราะ หลายคน โดยเฉพาะคนที่เบี้ยน้อยหอยน้อยอยากเป็นนักเล่นเครื่องเสียง แต่ไม่สามารถที่จะเล่นได้ เพราะงบประมาณไม่เยอะ ก็จะได้มีโอกาสที่ได้เครื่องที่ราคาไม่แพง แต่สามารถให้เสียงที่เป็นไฮ-ไฟแท้มาเล่นได้ สามารถได้เครื่องที่ให้เสียงนุ่มนวล ฟังสบาย เป็นเสียงแบบสากล เป็นเครื่องที่ทำให้สามาระเล่น แบบนักเล่นแท้ๆ เป็นเครื่องแรก

          ซึ่ง ผมก็เชื่อว่า นักเล่นมือหนักๆ เซียนเครื่องเสียงในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งนักวิจารณ์เครื่องเสียงเกือบทั้งหมด หากเป็นนักเล่นประเภท “ใต่เต้า” คือเริ่มจากชุดเล็กๆ มากก่อน และอยู่ในวงการไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว ก็คงแทบไม่มีใครที่ไม่เคยเล่น NAD 3020 มาก่อน

          เสียงของ NAD 3020 นั้น ยังติดหูผมอยู่จนถึงทุกวันนี้ ด้วยแนวเสียงที่นุ่มนวล ชวนฟัง เบสส์อิ่มนุ่ม ติดจะออกหนาหน่อย (เป็นเทรนด์การฟังของคนยุคนั้น) น้ำเสียงรวมๆ มีเนื้อ มีหนัง ไม่มีความแห้งผอมบางให้เห็น เสียงกลางออกแนวอบอุ่น เสียงแหลมนุ่มนวลฟังสบาย ภาคโฟโน เยี่ยม ซึ่งเป็นอีกส่วนที่ทำให้ NAD 3020 ได้รับคำชื่นชมกันเป็นอย่างมากด้วยภาค Phono ที่ดีมากๆ นี่แหละ สรุปง่ายๆ ว่าเป็นแอมป์เสียงนุ่ม เบสส์อิ่ม ซึ่งมันเข้ากันดีนักดีหนากับลำโพง AR ในยุคนั้นอย่าง AR18 ที่ผสมรวมกันได้ชุดที่ให้น้ำเสียงที่ผ่อนคลายฟังสบาย และมีราคาไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้มา แล้วก็ยิ่งน่าทึ่งว่า เมื่อจ่ายเงินออกไปเพียงเท่านี้แล้ว สิ่งที่ได้ครับมานั้น มันเกินมูลค่าเงินไปมากๆ มากจริงๆ

          กำลังขับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ เด่น แม้จะระบุติดเครื่องมาแค่ 20 วัตต์ (เดี๋ยวนี้ไม่มีแอมป์เครื่องไหนระบุมาแค่ 20 วัตต์อีกต่อไป) แต่มันก็ให้กำลังขับทีเกินตัวมากๆ มันขับลำโพง AR ที่ทั้งเป็นตู้ปิดและกินวัตต์ ออกมาได้อย่างราบรื่นและสบายๆ ไม่ต้องพูดถึงลำโพงตู้เปิดอื่นๆ จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นแอมป์ตัวเล็กนิดเดียว แต่ขับลำโพงตั้งพื้นตัวเบ้อเริ่ม ให้ได้เสียงดังอิ่มเต็มห้องได้อย่างไม่น่าเชื่อ

          เชื่อไหมว่า วันก่อน ผมเอา NAD 3020e ขับลำโพง NHT Classic 4 (ตั้งพื้น 4-ทาง ความไว 86 ดีบี) เร่งโวลูมแค่ 10.00 น. ก็ได้เสียงเต็มห้องแล้ว!

          ยิ่งเมื่อ นำมาเล่นกับแหล่งโพรแกรมในยุคนั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นแบบอะนาล็อค และก็ไม่ได้ดิบดีอะไรมาก ไม่ว่าจะเป็นเทป หรือจูนเนอร์ ก็ยิ่งทำให้ NAD 3020 เสริมสร้างความดีออกมาได้มาก เพราะทำให้น้ำเสียงมีความนุ่มนวล น่าฟัง ช่วยขัดเกลาความหยาบกร้านของแหล่งโพรแกรมที่คุณภาพไม่สูงนักออกมาได้อย่างดี มาก

          ความโด่งดังของ NAD 3020 นั้น เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการเริ่มได้รับการวิจารณ์ในแง่บวกจากสื่อทางฝั่งอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าชอบความเรียบง่ายอยู่แล้ว ข้ามไปฝั่งอเมริกา มีบทวิจารณ์ รีวิว รางวัล ฯลฯ ออกมาอย่างมากมาย ด้วยความเห็นลงไปในทางเดียวกันหมดคือ ยิ่งใหญ่ คุ้มค่า น่าใช้ ก็ยิ่งทำให้ NAD 3020 ขายดิบขายดีเป็นอย่างยิ่ง

          และ นั่นก็คือสิ่งที่ทำให้ NAD โด่งดังทะลุฟ้าเพียงชั่วข้ามคืน NAD 3020 กลายเป็นแอมป์ที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของ NAD มันประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากโดยสามารถทำยอดขายรวมกันทั่วโลกทุกรุ่นได้ กว่า 1,000,000 เครื่อง ซึ่งไม่มีเครื่องเสียงแยกชิ้นใดๆ ในโลกทำได้เช่นนี้มาก่อน มีรุ่นออกมาหลายรุ่นขายกันอยู่นานนับสิบปี

          NAD 3020 มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและออกมาอยู่หลายรุ่น ดังนี้

          NAD 3020 Series 20
          เป็น รุ่นแรกที่ออกมา ที่เรียกว่า Series 20 เพราะออกมาเป็นซีรีส์ซึ่งประกอบไปด้วย 4020 จูนเนอร์ ระบบเข็มเลื่อนแบบโบราณ ที่ก็โด่งดังไม่แพ้กัน กับ 6020 เครื่องเล่นเทปคาสเสทท์ เด็ค สุดแสนจะทนทาน

          Series 20 เป็นรุ่นแรกของ 3020 ที่เข้ามาในเมืองไทย และก็เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอันมาก ด้วยว่าเป็นเครื่องที่กำลังดังและมาแรง รวมถึงราคาไม่แพง เสียงดี ก็เลยทำให้ฮิตติดลมบนไปในที่สุด จุดสังเกตของการเป็นรุ่นนี้ก็คือ คำว่า Series 20 ที่อยู่ถัดจาก โลโก NAD แล้ว คำระบุรุ่นจะใช้คำว่า Stereo Amplifier 3020 เป็นรุ่นบอดีย์หนา ลูกบิดและ Selector ใหญ่ แบบดั้งเดิมของ NAD ระบุกำลังขับ (ที่ความเพี้ยนรวมไม่เกิน 0.02%) 20 วัตต์ต่อข้างที่ 8โอห์ม, 58 วัตต์ที่ 4 โอห์ม และ 72 วัตต์ที่ 2 โอห์ม ไดนามิค เฮดรูม (กำลังสำรอง) 3.0 ดีบี สังเกตดีๆ ว่ามีแอมป์ราคาห้าพันบาทเครื่องไหนที่ให้เสปคกำลังขับได้ขนาดนี้ มีภาคโฟโน MM มาให้ด้วย

          สีของหน้าปัดรุ่นนี้ออกไปทางเขียวแบบ OD หรือเขียวแบบทหาร อมเทา ซึ่งจะออกเขียวมากกว่าเครื่อง NAD ยุคหลังๆ อย่างเห็นได้ชัด ลูกบิดและ Selector ออกสีเทาเข้าเกือบดำ นอกจากนั้นยังมีรุ่นที่หายากมากๆ อีกคือรุ่นหน้าปัดสีเทาเงิน และรุ่นที่มีหูหิ้วแร็คติดมาให้ด้วย (เคยเห็นในเว็บต่างประเทศ)

          ปัจจุบัน เป็นรุ่นที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ และน่าหามาเก็บมาในฐานะการเป็นเครื่องรุ่นตำนานที่ทำให้ NAD ได้เกิดในวงการ ราคาขายในตลาดมือสองเดี๋ยวนี้แพงกว่าตอนขายเป็นของใหม่เสียอีก

          NAD 3020A (Digital Ready)
          หลัง จาก 3020 Series 20 ดังเป็นพลุแตก ก็มีการพัฒนา 3020 รุ่นใหม่ ขึ้นมา โดยส่วนใหญ่จะคงการออกแบบเดิมของ 3020 Series 20 เอาไว้ เพียงแต่มีการเพิ่ม ภาค Phono แบบ MC เข้าไป เพื่อตอบสนองต่อกระแสหัวเข็ม MC ที่กำลังมาแรงในตอนนั้น และก็แน่นอนว่า ภาคโฟโนของ3020A นั้นก็ต้องดีเยี่ยม กำลังขับยังคงระบุได้เท่าเดิมคือ 20 วัตต์ ต่อข้าง แต่กำลังขับแบบไดนามิคจะลดลงหน่อย (น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการวัด) คือ 50 วัตต์ที่ 4 โอห์ม และ 70 วัตต์ที่2โอห์ม และเพื่อเป็นการให้เข้าเทรนด์ของยุคนั้น มีการประดับคำว่า Digital Ready เอาไว้ในโบรชัวร์ของ 3020A เพื่อเน้นว่าสามารถเล่นกับเครื่องเล่นคอมแพ็คท์ ดิสค์ ซึ่งเป็นแหล่งโพรแกรมแบบใหม่ล่าสุดในยุคนั้นได้อีกด้วย

          รุ่นนี้เป็นรุ่นที่เห็นได้น้อยมากในบ้านเรา ทำให้มันเป็นเครื่องที่น่าเก็บหากไปเห็นที่ไหนขายในราคาสมเหตุสมผล

          NAD 3020B
          รุ่น ปรับปรุงต่อมาของ NAD 3020 เป็นเจเนอเรชันที่ 3 ที่ยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบทรงหนาเอาไว้เป็นรุ่นสุดท้าย รุ่นนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักในเรื่องของสเปคฯคือ ระบุกำลังขับขั้นต่ำเอาไว้ที่ 25 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม (ที่ความเพี้ยน .02% เท่าเดิม) ซึ่งอาจจะมาจากความต้องการ (ของตัวแทนขายทั่วโลก) ว่าให้มีกำลังเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อยก็ดี ซึ่งจริงๆ แล้วกำลังขับของ 3020 นั้นหากวัดกันจริงๆ ก็ได้เกิน 20 วัตต์อยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะปรับปรุงเพิ่มกำลังขับเป็น 25 วัตต์ ไดนามิค เฮดรูม ยังคงเดิมที่ 3.0 ดีบี กำลังสำรองไปได้ที่ 50 วัตต์ที่ 4โอห์ม และ 70 วัตต์ที่ 2 โอห์ม และยังคงภาคโฟโนแบบ MC เอาไว้

          และนอกจากจะมี 3020B แล้ว NAD ก็ยังมีการออกรุ่น 3120 ออกมาพร้อมๆ กัน ซึ่ง 3120 ก็คือ 3020 แบบ Flat ที่ตัดวงจรปรับเสียงทุ้ม/แหลมออก ตามกระแสการเล่นของคนอังกฤษ ซึ่งมีนิสัยชอบอะไรแบบแฟล็ทๆ รวมถึงเครื่องเสียงที่ดีต้องไม่มีวงจรทุ้ม/แหลม ก็เลยตัดวงจรดังกล่าว (รวมถึงปุ่มบาลานซ์) ออกไป กลายเป็น 3020 ที่มีแค่โวลูมกับ Selector เลือกแหล่งโพรแกรม แต่ก็ยังมีปุ่ม Loudness ให้ปรับแต่งได้ รุ่น 3120 นี่ไม่ค่อยดังเท่าไหร่

          สำหรับ 3020B นั้น ยังพอเห็นกันบ้างในบ้านเรา แม้จะไม่เยอะเท่า Series 20 แต่เห็นบ่อยกว่ารุ่น A ราคาในตลาดมือสองก็พอๆ กับ Series 20 ส่วน 3120 นั้น บอกตรงๆ ว่าไม่เคยเห็นเลยสักเครื่องเดียวในชีวิต

          NAD 3020e
          การ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ NAD 3020 นั้น มาเกิดตอนยุคนี้ โดย 3020 e (คำว่า E มาจาก Economic) เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดคือรูปร่างหน้าตา ที่เลิกใช้ตัวถังทรงหนา ปุ่มใหญ่ แบบเครื่องรุ่นพี่ทั้งสาม แต่หันมาใช้ตัวถังทรงบาง แบบเดียวกับเครื่องรุ่นอื่นๆ ของNAD ในยุคนั้น เพราะเป็นยุคที่ NAD เริ่มเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาให้ดูเพรียวและทันสมัยขึ้นหมดทั้งไลน์ ไอ้ครั้นจะปล่อย 3020 ให้มีหน้าตาโบราณแบบเครื่องยุคแรกๆ ก็คงไม่เข้าท่า ก็เลยมีการเปลี่ยนรูปร่างหน้าตา ให้มีความเข้ากันกับเครื่องรุ่นอื่นๆ ในตอนนั้นของ NAD

          3020e เป็นเครื่องที่ทำออกมาเน้นให้เป็นเครื่องแบบประหยัด ด้วยว่า (หากจะให้คาดเดา) คือตอนนั้น 3020 มีอายุอยู่ในตลาดมานานเป็นสิบปีแล้ว ความนิยมก็คงจะลดถอยลงไปบ้าง และช่วงนั้น NAD ก็เริ่มออกแอมป์ที่เหมือนจะเป็นตัวแทนของ 3020 ออกมาบ้าง เช่นรุ่น 3220PE และ 3225PE ซึ่งเริ่มมีการพัฒนาวงจร Power Envelope ออกมาใช้ (ซึ่งทำให้กำลังสำรองดีขึ้นไปอีก) แต่ไอ้ครั้นว่าจะทิ้ง 3020 ไปก็คงจะยังมีแฟนๆ ตามอยู่บ้าง ก็เลยออกมาเป็น รุ่น 3020e ซึ่งเป็นรุ่นประหยัด ตัดลูกเล่นออกไป เช่นตัดภาค Phono MC ตัดภาคปรี-เอาท์ / เมน-อิน ออก และถอยกลับมาใช้กำลังขับ 20 วัตต์เช่นเดิม

          3020e เป็นเครื่องที่ขายดีมากในบ้านเรา เป็นเครื่องที่ยังเห็นได้บ่อย และถี่ ตามร้านค้าขายเครื่องมือสอง แต่อย่างไรก็ตาม หากจะถามความเห็นผมแล้ว ผมว่าเป็นเครื่องที่น่าเล่นน้อยที่สุด เพราะขาดภาคปรี-เอาท์ / เมน-อิน ไปนี่แหละ ราคามือสองจึงไม่ควรแพงมากสำหรับรุ่นนี้

          NAD 3020i
          ความ ยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ครั้งสุดท้ายของ 3020 ก็มาจบลงที่ NAD 3020i นี่เอง (อักษร i ย่อมาจาก Improve)นี่เป็นเครื่อง 3020 เจเนอเรชันสุดท้าย ที่ทำออกมาเป็นการสั่งลาวงการ ก่อนที่จะปล่อยให้น้องๆ รุ่นใหม่ๆ ได้มาทำหน้าที่แทนกันเสียที 3020i นั้นเป็นการเอาความเป็น 3020 กลับมา แม้ภาค Phono MC จะไม่ได้กลับ เพราะยุคนั้นเป็นยุค CD กันเต็มตัวแล้ว แต่ก็มีการเอาภาคปรี-เอาท์ / เมน-อิน กลับมาเติมเข้าไปใหม่ มีการเปลี่ยนขั้วต่อลำโพงมาใช้แบบไบน์ดิง-โพสท์ บิดหมุนที่ทำให้ดูดีมีค่าและใช้งานได้ดียิ่งขึ้น รูปร่างหน้าตาภายนอกยังเป็นตัวเดียวกับ NAD 3020e คือเป็นเครื่องทรงบาง Selector เล็กรุ่นสุดท้าย

          ด้วยความที่เป็นเครื่อง 3020 รุ่นสุดท้าย 3020i จึงเป็นเครื่องที่ควรค่าต่อการเก็บไว้ น่าเสียดายที่ยุคของมันนั้นสั้นมาก และตอนนั้น NAD ก็มีอินติเกรตเต็ด แอมป์ รุ่นอื่นๆ ที่กำลังดังสุดๆ โดยเฉพาะ Monitor Series ซึ่งยุคนั้น เป็นช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่คนไทยมีตังค์ แอมป์รุ่นเล็กๆ กลับขายสู้แอมป์รุ่นที่มีราคาแพงกว่าไม่ได้ NAD 3020i จึงหายากกว่า NAD 3100 หรือ 3400 ซะอีก ดังนั้น นี่จึงเป็นเครื่องที่น่าหามาเก็บมา เพียงแต่ว่าจะหาได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง

          หลังจากหมดยุค ของ NAD 3020 โดยรุ่น 3020i เป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว NAD ก็ต้องออกหาตัวตายตัวแทน ซึ่งจากนั้น ก็มีเครื่องรุ่นต่างๆ ออกมา ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องที่สิบทอดสายพันธ์ความยิ่งใหญ่ของ NAD 3020 มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขอเอามาเรียบเรียงดังนี้

          NAD 302
          อิน ติเกรตเต็ด แอมป์ ที่ถือว่าออกมา “เพื่อแทน” NAD 3020 โดยตรง ไม่มีการอ้อมค้อม นี่คือทายาทของ 3020 ซึ่งตอนแรกๆ ที่ผมทราบข่าวว่า 302 เป็นเครื่องที่จะมาแทน 3020 นั้น เชื่อไหมว่าผมช็อคไปเลย และไม่คิดว่า NAD จะกล้าตัด 3020 ออกจากตลาด และตอนแรกๆ ก็แอนตี้ 302 ไปเลย ในฐานะที่เป็นตัวการทำให้ 3020 ต้องปิดตำนานลง (ว่าไปนั่น)

          รูป ร่างหน้าตาดูเหมือนจะเป็นการรวมกันของ Monitor Series กับ Classic Series เอาไว้ด้วยกัน (เป็นช่วงที่ NAD เริ่มหยุดไลน์การผลิต Monitor Series) อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ NAD หันมาใช้เลขชื่อรุ่นแบบ 3 ตัว สเปคโดยรวมของ 302 นั้น อยู่ในระดับเดียวกับ 3020 คือ เริ่มต้นที่ 25 วัตต์ มีภาคปรี-เอาท์ / เมน-อิน มีสเปคกำลังสำรองดีขึ้นคือ 75 วัตต์ ที่2 โอห์ม ยังคงมีภาคโฟโนแบบ MM เอาไว้ให้ ซึ่ง 302 ก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังแม้แต่น้อย มันเป็นแอมป์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในช่วงนั้น ได้รับรางวัลมากมายไม่แพ้รุ่นพี่แต่อย่างใด น้ำเสียงเพิ่มความสดใส กระฉับกระเฉงมากขึ้น ตามยุคสมัยที่เสียงแบบ 3020 เริ่มมีคนบ่นๆ ว่า “นุ่มไป”

          NAD 302 เป็นอีกเครื่องที่เห็นได้น้อยในตลาดบ้านเรา แม้คนขายยุคนั้นจะยืนยันว่าเป็นเครื่องที่ขายได้ได้ แต่ตอนนั้นมันเป็นยุคที่แอมป์รุ่นกลางๆ ของ NAD จะขายได้ดีกว่า และยุคนั้นก็เป็นยุคของ 304 ซึ่งเป็นแอมป์ ที่โด่งดังมากกว่าด้วย ก็เลยหา 302 ได้ยากกว่า

          และด้วยความที่เป็นเครื่องที่ไม่ได้อยู่ในระดับ ตำนาน ราคาของ NAD 302 จึงน่าจะอยู่ในระดับที่ไม่แพง ซึ่งหากหาได้ในราคาถูกมากๆ ก็น่าเก็บ เพราะอย่างไรนี่ก็เป็นแอมป์ที่เสียงดีตัวหนึ่ง

          NAD 312
          รุ่นต่อ มาที่พัฒนาขึ้นมาจาก 302 มีการปรับปรุงเล็กน้อย กำลังขับยังเท่าเดิม การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเป็นที่รูปร่างหน้าตา (เพิ่มขีดขวางที่หน้าปัดด้านหน้า) ให้ดูแปลกใหม่ขึ้น และเป็นแอมป์ รุ่นสุดท้ายที่มีภาคโฟโฟ MM มาให้

          รุ่นนี้หากจะว่าไปแล้ว เป็นรุ่นที่อาภัพที่สุด ก็ช่วงนั้นตัวที่ดังที่สุดในซีรีส์นี้กลายเป็นรุ่นกลาง NAD 314 รุ่นน้องเล็กเลยไม่ค่อยมีใครสน อีกทั้งเป็นเครื่องที่สภาวะเศรษฐกิจเมืองไทยกำลังเข้าสู่ในยุคฟองสบู่แตก NAD ซีรีส์ที่มี 1 อยู่ตรงกลางจึงไม่ค่อยจะฮ็อทเท่าไหร่ครับ

          หากเจอราคาไม่แพงก็น่าเก็บไว้เหมือนกัน

          NAD C320
          หลัง จากผ่านยุค เลข 3 ตัวเฉยๆ NAD ก็ก้าวข้ามสู่ยุค มีตัวหนังสือนำหน้าเป็นครั้งแรก โดยตัว C ที่อยู่ด้านหน้ารุ่นนั้น ก็หมายถึง Classic Series ซึ่งเป็นเครื่องแบบสเตรีโอ 2-แชนเนล ใช้ฟังเพลง และนี่ก็เป็นการประกาศศักดาอีกครั้งของ “น้องเล็ก” ที่ดูเหมือนจะดำเนินรอยตามพี่ใหญ่อย่าง 3020 อย่างเต็มตัว เพราะหลังจากที่ 302 และ 312 ไม่ค่อยรุ่งนัก C320 นี่แหละที่กลับมากู้ชื่อสายพันธุ์ 3020 กันได้อย่างเต็มตัว

          C320 เป็นเครื่องที่มีอะไรใหม่ๆ ให้กับวงการหลายอย่าง เป็นอินติเกรตเต็ด แอมป์ ของ NAD เครื่องแรกที่ตัดภาค Phono ออกไป ใครยังเล่นแผ่นเสียงต้องไปหา PP-1 มาใช้เพิ่ม เป็นเครื่องที่เห็นได้ชัดว่า NAD เพิ่มลูกเล่นขึ้นมามาก รูปแบบวงจรการออกแบบก็ใหม่หมด การเดินสายเก็บสายประณีต ไม่มีสายรุงรังข้างในให้เห็นอีกต่อไป ภาคปรีก็ออกแบบเป็น Class A โมดูล และก็เป็นลูกเล่นที่ได้รับประโยชน์กันเต็มๆ เช่น เพิ่มภาคอินพุท ขึ้นมาเป็น 7 ชุด, มีรีโมท คอนโทรล ให้สั่งงานง่ายและสะดวกขึ้น (มาถึงยุคมิลเลนเนียมนี่ ผู้คนต้องการความสะดวกสบายกันไว้ก่อนแล้ว) และที่สำคัญคือ เพิ่มกำลังขับขั้นต่ำขึ้นมาเป็น 40 วัตต์ และเราก็จะไม่ได้เห็นกำลัง 20 หรือ 25 วัตต์ จากแอมป์ NAD อีกต่อไป

          C320 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คว้ารางวัลมากมายก่อยกอง ประสบความสำเร็จล้นหลามไม่แพ้รุ่นพี่ 3020 ได้รับคำชมมากมาย คุณภาพเสียงก็ดีขึ้นมาก และเปลี่ยนไปมาก มันเป็นยุคที่ “เสียงนุ่มแบบNAD” เริ่มค่อยๆ จางหายไป กลายมาเป็นเสียงที่เปิด โปร่ง ใส และเต็มไปด้วยรายละเอียด แทน ภาคปรีเยี่ยม เพาเวอร์กำลังดี เสียงดี และดัง แม้ยุคนั้นจะมีรุ่นกลางอย่าง C340 ที่ก็ดังระเบิดไม่แพ้กันมาประกบ แต่ทั้งคู่ก็ไม่กลบกันเอง ตีคู่ขายดีกันมาโดยตลอด

          C320BEE
          เครื่อง นี้ออกมาในยุค NAD ครบรอบ 30 ปี เป็นเครื่องแรกที่ทำออกมาเพื่อเป็นการยกย่องผู้ออกแบบ และผู้ที่มีส่วนสำคัญในการออกแบบแอมป์ทุกรุ่นของNAD รวมถึงเป็นผู้ให้กำเนิด NAD 3020 ซึ่งก็คือ คุณ Bjorn Erik Edvardsen นั่นเอง

          นอกจากจะมีคำว่า BEE (ตัวอักษรย่อของผู้ออกแบบแล้ว) NAD C320BEE ก็เป็นเครื่องที่ได้รับการปรับปรุงออกมาขนานใหญ่ เริ่มจากพัฒนาภาคขยายเป็นแบบ PowerDrive ใหม่ ที่ให้กำลังสำรองดีขึ้น และมีความสามารถในการขับโหลดลำโพงได้ดีขึ้น เพิ่มกำลังขับเป็น 50 วัตต์ ปรับเปลี่ยนหน้าตาใหม่ให้ดูสวยงามทันสมัยขึ้น รวมถึงมีการทำเครื่องหน้าปัดสีเงินกันอีกครั้ง ในขณะที่ลูกเล่นอื่นก็ทำออกมาโดยมีพื้นฐานคือ C320 รุ่นเดิม

          C320BEE นั้น แค่ออกมาก็ดังเปรี้ยงปร้าง คว้ารางวัลมากมายก่ายกองจำไม่หวัดไม่ไหว เป็นเครื่องที่ให้ความคุ้มค่าสูง และให้เสียงที่ดีมากๆ และที่สำคัญคือ ความคุ้มค่าให้ให้มานั้น สุดๆ จริงๆ เมื่อเทียบคุณภาพเสียงต่อราคา

          และ นั่นก็เป็นเรื่องราวของตำนาน NAD 3020 นะครับ ซึ่งผมคิดว่าในวงการเครื่องเสียง คงไม่มีอินติเกรตเต็ด แอมป์ ตัวไหนที่จะประสบความสำเร็จ และยิ่งใหญ่ได้เทียบเท่าเครื่องรุ่นนี้กันอีกแล้ว เพราะแม้ปัจจุบัน NAD 3020 จะไม่ได้มีการผลิตออกมาอีกแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถปฐิเสธได้เลยว่า 3020 ยังคงมีทายาทสืบต่อความยิ่งใหญ่กันมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน

          ซึ่ง ทุกเครื่องก็ล้วนแล้วแต่รักษาความดีความชอบของรุ่นพี่เอาไว้ได้ตลอดไม่ เสื่อมคลาย นั้นคือ - - ความคุ้มค่าเป็นที่สุด - - - นั่นเอง
          sigpic
          -ถ้ายิ่งใหญ่อย่างที่กร่างไว้จริง ควรใช้ความยิ่งใหญ่กร่างหาคนแจ้งความชั่วของตัวเอง
          -อย่าปลอกสายลำโพงให้ยาวเกินความจำเป็นนะ เดี๋ยวแอมป์จะดับได้เวลาโยกตู้ลำโพง
          งดแรงชั่วคราว

          Comment


          • #20
            Last edited by NileHifi; 31 Jul 2013, 13:37:18.

            Comment

            Working...
            X